พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังมีผู้เรียกร้องยังชุมนุมอยู่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยในภาพรวมของยางพาราทั่วประเทศ ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ จึงได้มอบหมายคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ในการพิจารณาสภาพปัญหาเกี่ยวกับราคายางพาราและความเดือดร้อนของผู้เกี่ยวข้องกับกิจการยางพารา และหารือร่วมกันกับตัวแทนผู้เกี่ยวข้องกับกิจการยางพาราทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นประโยชน์แก้ทุกฝ่ายและสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยให้กิจการยางพารามีเสถียรภาพ และเสนอแนะข้อคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาต่อ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) รวมไปถึงคณะรัฐมนตรีต่อไป
“เนื่องจากที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นจุดที่มีการชุมนุมกันอยู่ และมีความไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราคายาง ในวันพรุ่งนี้ คณะกรรมการจึงจะลงไปเจรจาทำเข้าใจ ปรึกษาหารือหาข้อยุติร่วมกันกับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช เวลา 10.00 น. ส่วนในพื้นที่อื่นทั้งภาคอีสานหรือภาคเหนือจะพิจารณาดำเนินการอีกครั้ง" พล.ต.อ.ประชา กล่าว
พล.ต.อ.ประชา กล่าวถึงการเจรจาเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมเปิดเส้นทางคมนาคมนั้น ถือว่าเป็นประเด็นหลักที่ต้องพูดคุย แต่ก็ต้องพูดถึงการมาตรการเยียวยาของรัฐบาลด้วย โดยจะเจรจาให้เปิดเส้นทางรถไฟและรถยนต์เป็นขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้มอบหมายให้ พล.ต.ต.ธวัช เป็นผู้ประสานงานกับทางแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม
"การเปิดเส้นทางเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะประชาชนทางภาคใต้มีความเดือดร้อนมาก"
ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวเสริมว่า ภายหลังจากที่ได้นำมติที่ประชุม กนย. รายงานต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งยอมรับยังต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรและกลุ่มผู้ชุมนุมที่เห็นแตกต่างจากมติ กนย.หรือมาตรการของรัฐบาล เพื่อให้รับทราบถึงแนวทางที่กำลังจะดำเนินการ นายกฯจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหายางพาราขึ้นมา และให้ พล.ต.อ.ประชา เป็นประธาน ร่วมกับภาคส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ส่วนนายวราเทพ กล่าวว่า มีโอกาสที่จะไปพบกับเกษตรหรือกลุ่มผู้ชุมนุมโดยไม่ผ่านแกนนำหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจา ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าเกษตรกรเองก็ต้องการให้มีการพูดคุย อย่างไรก็ตามการเจรจาในลักษณะของตัวแทน จะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจกันได้ง่าย หากหารือแล้วเสร็จมีการเสนอให้ตัวแทนคณะกรรมการไปชี้แจงกับเกษตรกรก็จะดูสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง
ขณะที่ พล.ต.ต.ธวัช ระบุว่า จำนวนหรือบุคคลที่จะเข้าหารือกับคณะกรรมการนั้นขึ้นอยู่กับทางกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะส่งผู้ใดมาร่วม ในความเป็นจริงรัฐบาลต้องการเชิญทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าของสวนยางรายใหญ่-รายย่อย ผู้รับจ้างกรีดยาง รวมทั้งผู้แทนจุดรับซื้อยาง เพื่อให้ครอบคลุมตามวัตถุประสงค์ของการตั้งคณะกรรมการ
ส่วนจะมีการชุมนุมที่บริเวณหน้าโรงแรมหรือไม่นั้น พล.ต.อ.ธวัช กล่าวว่า คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะว่าผู้ชุมนุมที่ จ.นครศรีธรรมราช เหลืออยู่จุดเดียวที่ อ.ชะอวด ส่วนที่ อ.ท่าศาลา และ อ.นาบอน มีความเข้าใจพอสมควรแล้ว ยังมีเพียงบางส่วนที่ยังไม่ตกลงตามมติ กนย. ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ได้มีการส่งชื่อแกนนำในส่วนของ จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 12 รายขณะที่ จ.นครศรีธรรมราช นั้นมีการแจ้งมาประมาณ 30 ราย ซึ่งจะประสานงานความพร้อมที่จะมาเข้าร่วมการพูดคุยกัน
สำหรับคำสั่งเรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา ซึ่งลงนามโดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน
โดยมีกรรมการประกอบด้วย นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ นอกจากนี้ยังมี พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนากยรัฐมนตรี เป็นเลขานุการ และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในส่วนของผู้แทน สตช.ที่จะร่วมคณะเดินทางไปด้วยนั้น ประกอบด้วย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สฤษฏ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล