ส่วนปัญหาการกักตุนยางพารานั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ต้องมีการแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และแม้ว่าข้อเรียกร้องต่างๆ อาจมีความเห็นไม่ตรงกันทางคณะกรรมการจะนำมติ กนย.ลงไปหารือว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร จึงเสนอให้พูดคุยกันทั้งในส่วนรัฐบาล, เกษตรกร และผู้ประกอบการ โดยเชื่อว่าหลังหารือกันทั้ง 3 ส่วนจะทำให้เห็นปัญหาและร่วมกันแก้ไขได้ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาในระยะยาว
"รัฐบาลดูแลเกษตรกร ไม่ว่าจะปลูกพืชประเภทไหน ก็ดูแลกันอย่างไม่เลือกปฏิบัติ โดยชาวนาที่ปลูกข้าวจะไม่เหมือนกับชาวสวนยาง การปลูกข้าวนั้น 1 ปี ปลูกครั้งหนึ่ง ต้องลงทุนแล้วขายไปครั้งหน้าปีหน้าก็ปลูกใหม่ แต่ลักษณะการปลูกยาง เป็นค่าแรงในการกรีดยางแต่ละครั้ง ซึ่งการดูแลจะไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถเปรียบเทียบได้ทางตรง ดังนั้นประชาชนไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน จังหวัดไหน ปลูกพืชอะไร รัฐบาลก็ตั้งใจที่จะดูแลอย่างเต็มที่อยู่แล้ว" นายกรัฐมนตรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้(6 ก.ย.) ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม เชิญผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจากยางพารา เช่น ถุงมือยางทางการแพทย์ โดยให้กระทรวงสาธารณสุขออกมาตรฐานที่สามารถผลิตในไทยได้ รวมถึงโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ที่ใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบ ซึ่งต้องมีการเร่งดำเนินการควบคู่กันไป