พล.ต.อ.ประชา ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพารา เดินทางมาพร้อมกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ และ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เริ่มหารือกับตัวแทนเกษตรกร โดยกล่าวว่า รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งพร้อมรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย และต้องการได้ข้อสรุปที่เป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือเกษตรกร และต้องการให้ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้คลี่คลายลงเพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ชี้แจงมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)ที่เห็นชอบขยายหลักเกณฑ์ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 1,260 บาท/ไร่ จากรายละ 10 ไร่เป็นไม่เกิน 25 ไร่ว่า การช่วยเหลือปัจจัย 1,260 บาท เป็นความต้องการของเกษตรกรจำนวนมากและมีความเหมาะสมจึงจำเป็นต้องดำเนินการต่อ ส่วนราคายางนั้น ที่ประชุม กนย.เห็นตรงกันว่าราคายางมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ จึงไม่ได้มีมติที่จะรับซื้อหรือแทรกแซงราคายาง แต่ก็พร้อมรับฟังข้อเสนอของชาวสวนยาง
ด้านนายอำนวย ยุติธรรม ประธานเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อความเป็นธรรม หนึ่งในตัวแทนชาวสวนยาง ยืนยันว่า เกษตรกรต้องการราคายางที่กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนแนวทางจะดำเนินการอย่างไรเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องกลับไปทบทวน พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะรับเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตต่อไร่ เนื่องจากภาคใต้มีพื้นที่ปลูกยางน้อยกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเงินที่ได้จะตกอยู่กับเจ้าของไร่ ไม่ใช่เกษตรกรตัวจริงที่รับจ้างกรีดยาง ซึ่งทางเครือข่ายทิ้งคนกรีดยางไม่ได้ จึงอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยหากไม่ได้ข้อสรุปในวันนี้ชาวสวนยาง อ.ชะอวด พร้อมกลับมาชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 14 ก.ย.นี้
นายประภาส โรจนพิทักษ์ ตัวแทนภาคีเครือข่ายชาวสวนยาง จ.ตรัง เสนอให้ประกันราคาน้ำยางสดที่ 90 บาท/กก.เนื่องจากในพื้นที่ จ.ตรังส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยกว่า 70% ที่ขายน้ำยางสด ส่วนนายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานเครือข่ายเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมยางพารา จ.สงขลา กล่าวว่า เคยยื่นหนังสือให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพารามาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความสนใจ กระทั่งชาวสวนยางต้องปิดสี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ และเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาและประกันราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาท/กก.
นายเทียนชัย อินทศิลา แกนนำเกษตรกรจาก ต.บางรูป อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เห็นตรงกันในข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่เสนอให้รัฐบาลรับประกันราคา เนื่องจากขณะนี้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อาทิ การลงทุนที่ดิน แรงงาน ปุ๋ย สารเคมี และอุปกรณ์ในการกรีดยาง
ด้านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ฝากข้อเสนอจากรัฐบาลให้ตัวแทนเกษตรกรไปหารือก่อนที่จะมีการประชุมในช่วงบ่ายว่า แนวทางที่เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องการในราคา 100 บาท/กก.โดยไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลไกราคาจะทำในแนวทางใด เพราะในขณะนี้ราคายางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มหารือกันจากกิโลกรัมละ 60 กว่าบาท เป็น 78 บาท จึงอยากให้เกษตรกรไปทบทวนราคาที่มีความเป็นไปได้และเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ การพูดคุยในวันนี้หากได้ข้อสรุปก็อยากให้ชาวสวนยางยุติการชุมนุมด้วย