"เชื่อว่าถ้าร่วมมือกัน ก็จะมีทางออก...แม้ไม่ใช่พื้นที่ฐานเสียงก็จะดูแล จะไม่เลือกปฏิบัติ" นายกรัฐมนตรี กล่าว พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลมีความจริงใจและพร้อมจะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวสวนยางอย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี ไม่ต้องการเห็นความรุนแรงจากการชุมนุมของชาวสวนยาง ดังนั้นจึงต้องมีการเปิดเวทีเพื่อพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน เพราะหากการชุมนุมยืดเยื้อออกไปจะกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 3 และ 4 มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังไม่ยืนยันในกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมขอให้รัฐบาลรับประกันราคายางที่กก.ละ 100 บาทขึ้นไป เพราะขณะนี้ต้องขอรอฟังผลการหารือของคณะกรรมการชุดที่ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกรในการรับฟังปัญหาทั้งหมดก่อน
นอกจากนี้ จากการที่ได้คุยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพาราเมื่อช่วงเช้า รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแลทั้งในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยในส่วนของการดูแลต้นน้ำนั้น คือตั้งแต่การหาพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม การพัฒนาผลผลิตให้ได้คุณภาพเพื่อลดต้นทุน เพราะหากต้นทุนราคายางธรรมชาติอยู่ระดับใกล้เคียงกับยางสังเคราะห์ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการหันไปใช้ยางสังเคราะห์เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแทนการใช้ยางธรรมชาติ
ส่วนกลางน้ำและปลายน้ำนั้น กระทรวงการคลังได้จัดสรรงบประมาณไว้ 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการแปรรูปยางพารา ซึ่งภาคเอกชนค่อนข้างพอใจในจุดนี้ เนื่องจากมองว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในการผลิตถุงมือยางทั้งวงการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมการเกษตร ขณะเดียวกันภาครัฐเองจะพิจารณาหาแนวทางเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารา เช่น การใช้ก่อสร้างถนน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่รัฐเป็นผู้เข้าไปลงทุน