ปัญหาของยางพาราคือ ผลิตผลที่ออกมา และราคาตลาดไม่ได้เติบโตตามกลไกที่พี่น้องเกษตรกรอยากเห็น ก็ดูว่าต้องเข้าไปส่งเสริมในอุตสาหกรรมกลางน้ำกับปลายน้ำ จากการหารือกับผู้ประกอบการ ได้ข้อสรุปว่า อุตสาหกรรมต้นน้ำ จะดูว่าทำอย่างไรส่งเสริมให้ปลูกบนพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้ขายในราคาที่ดี ถ้าทราบปริมาณการปลูกก็จะทำให้ราคาเป็นไปตามกลไก และส่งเสริมปลูกยางที่มีคุณภาพ
ส่วนกลางน้ำ คือ แปรรูปยาง ภาคเอกชนเห็นว่ารัฐควรจะส่งเสริม เราก็มีงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ส่งเสริมด้านการแปรรูป เพื่อให้สามารถมีการใช้ยางเฉลี่ยปีละ 210,000 ตัน นี่คือผู้ประกอบการให้ข้อมูล ทำให้แทนที่ยางแผ่นดิบจะทิ้งไป แต่เอามาแปรรูปก็จะขายได้
ส่วนปลายน้ำคือ เอามาทำเป็นรูปแบบต่างๆ เช่น ยางรถยนต์ ที่อยากเห็นคือเรื่องของผลิตภัณฑ์รถยนต์ ก็ขอความร่วมมือบริษัทรถยนต์รายใหญ่ ให้ใช้เปอร์เซ็นต์ของยางธรรมชาติมากขึ้น เราก็ต้องพยายามรักษาสมดุลของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพราะตอนนี้ราคาธรรมชาติสูงกว่ายางสังเคราะห์อยู่ เราก็ต้องไปดูที่ต้นน้ำ มีอีกกลุ่มที่ดูคือ ถุงมือยางแต่ก่อนเรานำเข้า ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุขออกกฎระเบียบใหม่ให้บริษัทไทยผลิตถุงมือยางได้ ทั้งทางการแพทย์และเกษตร เราก็พยายามส่งเสริมตรงนี้ ตัวที่สาม เป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์อื่นๆที่เราต้องส่งเสริมซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงวิทย์ อุตฯ บีโอไอ ดูเรื่องการเปิดตลาดใหม่ทำให้มีการใช้ยางพารามากขึ้น
นอกจากนี้ อีกส่วนคือ การใช้ยางของภาครัฐเป็นส่วนประกอบในการทำถนน แผ่นยางรอง เฟอร์นิเจอร์ ก็มี ภาครัฐเองก็ได้บูรณาการความช่วยเหลือ กระทรวงคมนาคมไปศึกษาแล้วว่าจะใช้ยางพาราในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้มากแค่ไหน ก็เลือกเอาในส่วนที่เหมาะสม รวมไปถึงการผลิตอุปกรณ์ต่างๆของกองทัพก็สามารถใช้ยางพาราไปเป็นส่วนประกอบได้
"กราบเรียนพี่น้องเกษตรกรทุกท่านว่า รัฐบาลห่วงใยพี่น้องเกษตรกรทุกคน ทุกพืชผล ในส่วนของยางพาราก็อยากพูดคุยกับพี่น้องเกษตรกร เลยมีคำสั่งสำนักนายกฯ ให้รองประชา ลงไปพูดคุยกับพี่น้องในจังหวัดนครศรีธรรมราช"นายกรัฐมนตรี กล่าว