เนื่องจากอุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมแก้วและกระจกเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศได้ถึงปีละกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ต้องใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) และก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิง โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15-40% ของต้นทุนการผลิตและจากนโยบายของภาครัฐที่ลดการชดเชยเชื้อเพลิงก๊าซหุงต้มภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นประมาณ 60% จากต้นทุนเดิม ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ
“สำหรับแก๊สชีวมวลที่สามารถนำมาทดแทน ก๊าซ LPG และ ก๊าซ NGV ในอุตสาหกรรมเซรามิกนั้น ต้องเป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติของค่าความร้อนของการเผาไหม้ที่ให้อุณภูมิสูงถึง 1,200 องศาเซลเซียส ดังนั้นการศึกษาวิจัยเชื้อเพลิงแก๊สจากชีวมวล เพื่อนำไปใช้กับอุตสาหกรรมเซรามิกในครั้งนี้ จึงเป็นการพัฒนาเชื้อเพลิงอื่นๆ ขึ้นมาทดแทนก๊าซ LPG ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีให้กับชุมชนแล้วยังมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเซรามิกลงได้อีกด้วย สำหรับผลการศึกษาครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถใช้เชื้อเพลิงแก๊สจากชีวมวล ทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ได้ 100% ซึ่งจะช่วยลดการใช้ LPG ได้ปีละ 36 ตัน/เตาเผา คิดเป็นเงินประมาณ 1 ล้านบาทต่อปี " นายสุเทพ กล่าว