โดยให้เหตุผลว่าการเพิ่มอัตราเงินช่วยเหลือดังกล่าวคิดเป็นเงินที่เกษตรกรจะได้รับประมาณ 12 บาท/กก.เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวจากเดิมที่หากจ่ายเป็นเงินช่วยด้านปัจจัยการผลิต 1,260 บาท/ไร่ คิดเป็นเงินเพียง 6 บาท/กก.
"อัตราใหม่เมื่อคิดคำนวณกับราคายางพาราปัจจุบันที่ 78 บาท/กก.แล้ว จะทำให้ราคายางเทียบเคียงกับฐานที่ 90 บาท/กก.ตามที่เกษตรกรชาวสวนยางเรียกร้อง โดยไม่เกินรายละ 25 ไร่ โดยยังเชื่อว่าคนกรีดยางกับเจ้าของสวนยางน่าจะตกลงเรื่องการแบ่งผลประโยชน์กันได้"นายกิตติรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากราคายางพาราสูงขึ้นถือเป็นประโยชน์ของเกษตรกร และจะไม่มีการยกเลิก แต่หากราคามีการปรับตัวลงถือเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องเข้าใจและยอมรับได้ ซึ่งในวันพรุ่งนี้จะทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อให้กลับไปชี้แจงกับเกษตรกรด้วย ซึ่งจากได้เดินทางไปรับฟังข้อเสนอจากตัวแทนเกษตรกรที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลได้รับปากตัวแทนเกษตรกรที่จะทำให้ราคายางพาราอยู่ที่ 90 บาท/กก.โดยไม่จำกัดวิธีการ ซึ่งการรับปากดังกล่าวไม่มีส่วนไหนที่ขัดกับมติ กนย.ที่ออกมาก่อนหน้านี้ รวมถึงไม่ทำให้ประโยชน์ของเกษตรกรและผู้ประกอบการลดลง โดยย้ำว่าการใช้จ่ายงบประมาณอยู่ในกรอบที่รัฐบาลสามารถดูแลได้และได้พิจารณาด้วยความระมัดระวัง
ขณะที่นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยาง เสนอให้เร่งการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการตรวจสอบพื้นที่ให้เร็วขึ้นจากเดิมใช้เวลา 30 วัน เนื่องจากหากล่าช้าจะกระทบต่อการช่วยเหลือเกษตรกร
ด้านนายประชัย กองวารี นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย กล่าวว่า ขณะนี้มีการผลิตถุงมือยางใช้ในประเทศไทยประมาณปีละ 3 แสนตัน หากรัฐบาลเห็นชอบอนุมัติวงเงินอีก 1.5 หมื่นล้านบาท จะส่งผลให้มีการใช้ยางพาราเพิ่มอีกปีละ 5 แสนตันและทำให้ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้น พร้อมกันนี้อยากให้รัฐบาลกำหนดให้ชัดเจนว่าหากราคายางปรับตัวสูงขึ้นแตะ 100 บาท/กก.รัฐจะยังคงช่วยเหลือเกษตรกรอยู่หรือไม่