น.ส.รสนา โตสิตตระกูล ส.ว.กรุงเทพ กล่าวว่า ในช่วงเช้าศาลปกครองได้ไต่สวนคำฟ้องคดีคัดค้านการขึ้นราคา LPG โดยให้ผู้ฟ้องเป็นคนตั้งคำถาม ข้อสงสัย โดยฝ่ายผู้ถูกฟ้องได้มอบอำนาจให้นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนในการชี้แจง ซึ่งหลังการชี้แจงครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าการบริหารเรื่องปิโตเคมีเป็นแนวทางการบริหารที่สืบทอดกันมายาวนานโดยไม่มีกฎหมายรองรับ อีกทั้งเห็นว่านายสุเทพเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากมีตำแหน่งเป็นเลขานุการในคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และยังเป็นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) รวมทั้งเป็นกรรมการใน บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ซึ่วเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย จึงถือว่าเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน
ด้านน.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ได้ชี้ให้ศาลเห็นว่าขั้นตอนการดำเนินการขึ้นราคาของรัฐไม่ได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 ที่ให้ฝ่ายผู้บริโภคได้เข้าไปมีส่วนแสดงความเห็นหรือรับฟังความคิดเห็น แต่รัฐใช้วิธีการปรับขึ้นราคาเพียงอย่างเดียว ในขณะที่การบริหารเรื่องของราคาค่าก๊าซสามารถดำเนินการด้วยวิธีการอื่นได้โดยไม่ต้องปรับราคา เช่น การลดค่าผ่านท่อ หรือ การกำหนดราคาขายสำหรับผู้ใช้ทุกกลุ่มให้เท่าเทียมกัน และจากการที่ผู้อำนวยการ สนพ.ชี้แจงจึงเพิ่งทำให้เข้าใจว่าการที่รัฐมนตรีแถลงข่าวนั่นคือการรับฟังความคิดเห็น ถือเป็นการเบี่ยงเบน
ส่วนน.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ข้ออ้างที่ผู้ชี้แจงพูดถึงสาเหตุที่ต้องปรับราคา เนื่องจากมีการลักลอบนำก๊าซ LPG ไปขายยังต่างประเทศ เนื่องจากราคาก๊าซ LPG ต่างประเทศแพงกว่าราคาในประเทศ ถือเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากการลักลอบนำก๊าซไปขายต่างประเทศเป็นสิ่งที่กระทรวงพลังงานต้องดูแลรับผิดชอบไม่ให้เกิดความบกพร่องดังกล่าว แต่กลายเป็นว่าเมื่อมีการลักลอบนำก๊าซ LPG ไปขายต่างประเทศ กลับแก้ปัญหาด้วยการขึ้นราคาก๊าซซึ่งเป็นผลักภาระมาให้ผู้บริโภคถือเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง