ผู้ประกอบการมันฯแนะรัฐลดต้นทุน-พัฒนาผลผลิตแทนรับจำนำที่ทำเกษตรกรเคยตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 10, 2013 16:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุญชัย ศรีชัยยงพาณิขย์ ประธานคณะกรรมการสำรวจภาวะการผลิตและการค้ามันสำปะหลังปี 56/57 เปิดเผยว่า ในฤดูกาลผลิตปี 56/57 มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 7.98 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อน 1.6 แสนไร่ เพราะเกษตรกรหันไปปลูกพืชผลทางการเกษตรที่มีราคาสูงทดแทน และนายทุนได้กว้านซื้อที่ดินเพื่อขยายโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง และฉะเชิงเทรา ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญในการพัฒนาผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรและทดแทนพื้นที่ที่หายไป

สำหรับผลผลิตมันสำปะหลังในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 28.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.66% เพราะได้รับอานิสงส์จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของมันสำปะหลัง และขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของเพลี้ยแป้ง

นายนิยม จุฬาเสรีกุล นายกสมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย กล่าวว่า ขณะนี้สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย, สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ไม่ต้องการให้รัฐบาลใช้นโยบายการรับจำนำหัวมันในขณะนี้ เพราะจะยิ่งทำให้อุตสาหกรรมมันสำปะหลังเกิดความปั่นป่วน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกได้

ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 2.08 บาท/กก. และปัจจุบันขายได้ 2.50-2.60 บาท/กก. ซึ่งเกษตรกรและโรงงานอุตสาหกรรมพอใจ แต่หากจะรับจำนำให้ราคาขึ้นมาอยู่ที่ 3.00 บาท/กก.จะไม่มีตลาดใดรับซื้อมัน เพราะมีทางเลือกที่จะซื้อสินค้าประเภทอื่นแทน โดยเฉพาะข้าวโพดที่มีแนวโน้มราคาลดลง

"รัฐบาลต้องให้เกษตรกรยืนด้วยตัวเองให้ได้ เพราะถ้าแทรกแซงราคาอย่างเดียวจะทำให้เรียกร้องไม่มีที่สิ้นสุด และจะทำให้เกิดความปั่นป่วนในตลาด สุดท้ายถ้าไม่ได้ ก็จะประท้วงปิดถนน ดังนั้นแนวทางที่จะช่วยคือการลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต หรือถ้าราคาต่ำมาก รัฐบาลค่อยอุดหนุน เพื่อลดความเดือดร้อนของเกษตรกร แต่ไม่ควรอุดหนุนไปอยู่ที่ราคา 3 บาท/กก." นายนิยม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ