ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก การเร่งตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และความเสี่ยงทางการเมือง ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะมาจากการพื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและญี่ปุ่นที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะผลักดันให้มีการส่งออกเติบโตมากขึ้น และการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี 20% ต่อเดือน โดยล่าสุดในเดือนส.ค.56 ขยายตัวถึง 28% อัตราการว่างงานต่ำ ฐานะการเงินของธนาคารและภาคเอกชนมั่นคง ฐานะการคลังภาครัฐยังเอื้อต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สัดส่วนหนี้สาธารณะยังต่ำที่ 44% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะยาวต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม)ซึ่งในปี 55 มีสัดส่วนส่งออกถึง 8% สูงกว่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่ 6.5% รวมทั้งขยายการลงทุน โดยเฉพาะภาครัฐที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำเหลือเพียง 5% จาก 10%
"ถ้ารัฐไม่ลงทุนจะทำให้รายได้จีดีพีเล็กลง ดังนั้นต่อให้ไม่ทำอะไรเลยหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้นเชื่อว่าเมื่อพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาทผ่านสภาผู้แทนราษฎร จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ"นายเอกนิติ กล่าว