นายกฯ เชิญชวนภาคธุรกิจสวิสเข้าลงทุนโลจิสติกส์ในทวาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 11, 2013 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวในโอกาสหารือทวิภาคีกับนายอือลี เมาเรอร์ ประธานาธิบดีสมาพันธรัฐสวิส พร้อมด้วยนายดีดีเย บวร์คฮัลเทอร์ รองประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส และนายโยฮันน์ ชไนเดอร์-อัมมันน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การศึกษาและการวิจัยสมาพันธรัฐสวิส

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจไทย และการลงทุนในโครงการสำคัญของรัฐบาลรวมทั้ง โครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่ยินดีเชิญบริษัทสวิสเข้ามาลงทุนในโครงการนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคโลจิสติกส์ เนื่องจากสมาพันธรัฐสวิสถือว่ามีระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

นายกรัฐมนตรียืนยันความพร้อมของไทยในการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย — EFTA ( European Free Trade Association: ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ) ซึ่ง FTA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนของไทยกับ EFTA รวมทั้ง ยังจะช่วยกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับสมาพันธรัฐสวิส ที่ถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย โดยคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 90 ของการค้ารวมไทย-EFTA

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ดำเนินการส่งเสริมการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่านักลงทุนไทยจะมีความสนใจเข้าไปลงทุนเพิ่มมากขึ้นในสวิส และในขณะเดียวกันนักลงทุนสวิสก็เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สมาพันธรัฐสวิสถือเป็น 1 ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทยในยุโรป และยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อไปในระดับทวิภาคีอีกมาก โดยนายกรัฐมนตรีและฯได้กล่าวขอบคุณสวิสที่ได้นำเข้าข้าวไทยกว่า 10,820 ตันเมื่อปีที่ผ่านมา และหวังว่าสวิสจะยังคงนำเข้าข้าวไทยต่อไป ข้าวหอมมะลิไทย หรือข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับการรับรองการคุ้มครองตามภูมิประเทศที่ผลิต (Protected Geographical Indications: PGI) โดยสหภาพยุโรปตั้งแต่มีนาคม 2556

ด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี เห็นพ้องนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยในปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 5 ล้านคน โดยเป็นชาวสวิสประมาณ 190,000 คน ซึ่งน่ายินดีที่ไทยยังคงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวสวิสนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวและรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับความปลอดภัย รวมถึงสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยว เนื่องจากการท่องเที่ยวถือเป็นรายได้สำคัญทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ ไทยและสวิสจะให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย

ด้านความร่วมมือทางวิชาการ ไทยและสวิสจะแลกเปลี่ยนความร่วมมือทวิภาคีทางด้านวิชาการ ทั้งในด้านการบริหารจัดด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว การส่งเสริมศักยภาพของ SMEs และการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (electronic waste) นอกจากนี้ ไทยและสวิสต่างเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เช่น การบริหารจัดการการท่องเที่ยวและ SMEs

สำหรับความร่วมมือระหว่างกันในกรอบพหุภาคี นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีสวิสต่างยินดีต่อการให้การสนับสนุนซึ่วกันและกันในการสมัครตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของทั้งสองฝ่าย ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ประธานาธิบดีสวิสทราบถึงพัฒนาการในอาเซียน ที่กำลังจะรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยวิสัยทัศน์ภายหลังปี 2558 คือการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยอาเซียนมีการขยายการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกผ่าน RCEP


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ