สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการรักษาระดับหรือขยายการลงทุน ได้แก่ ความพร้อมของอุตสาหกรรมสนับสนุนและวัตถุดิบ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอ เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนในไทยกับต่างประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ (คะแนน 3.64 จากคะแนนเต็ม 5) เป็นรองเพียงสิงคโปร์ (3.79) แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศนอกอาเซียน ประเทศไทยเป็นรองญี่ปุ่น (คะแนน 4.40) แต่มีความเอื้ออำนวยใกล้เคียงกับจีน (3.66)
นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในไทย โดยนักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าผลประกอบการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายได้รวม รายได้จากตลาดในประเทศ รายได้จากตลาดต่างประเทศ หรือผลกำไรในปี 2556 จะดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า และจะดียิ่งขึ้นต่อไปในปี 2557 ทั้งนี้ นักลงทุนมีความเชื่อว่าภาระหนี้สินในปี 2556 และ 2557 จะอยู่ในระดับทรงตัว
ผลการสำรวจยังพบว่า นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาตั้งกิจการในประเทศไทยแล้วร้อยละ 13.60 มีความสนใจหรือมีแผนที่จะขยายการลงทุนไปในต่างประเทศ โดยประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมาร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ
สำหรับผลสำรวจด้านความพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับจากบีโอไอ พบว่า นักลงทุนโดยรวมพอใจกับสิทธิประโยชน์ที่ได้จากบีโอไอ และพอใจกับการให้บริการออนไลน์จากบีโอไอ รวมทั้งพอใจกับบริการที่ได้รับจากศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนหนึ่งอยากให้บีโอไอพัฒนาเรื่องความรวดเร็วในการให้บริการ อาทิ ระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติส่งเสริม รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้นเพื่อให้บริการได้รวดเร็วขึ้น ตลอดจนการให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา บีโอไอ มอบหมายให้ บริษัท ไบรอัน เคฟ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการการสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทย ประจำปี 2556 ได้จัดทำขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม — พฤษภาคม 2556 และได้รับความร่วมมือจากนักลงทุนกว่า 500 ราย โดยนักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 51) และหากจำแนกตามประเภทธุรกิจ จะพบว่านักลงทุนในธุรกิจผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง คิดเป็นสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 27)