"พยุงศักดิ์"แนะเอกชนซื้อประกันลดเสี่ยงภัยพิบัติ ยอดกรมธรรม์ล่าสุด 1.4 ล้านฉบับ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 12, 2013 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ กล่าวถึงนโยบายการดำเนินงานของกองทุนฯ ในปี 2556 ว่า กองทุนฯ จะยังคงเป็นหลักในการขับเคลื่อนให้ระบบการประกันภัยสามารถดำเนินธุรกิจได้เช่นเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตอุทกภัย และผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครองภัยพิบัติได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนต่างชาติและผู้ประกอบการต่างๆ ให้ยังคงดำเนินกิจการและขยายการลงทุนต่อไปในประเทศไทย

โดยในปัจจุบันประชาชนและภาคธุรกิจให้ความสำคัญต่อการปิดความเสี่ยงภัยพิบัติด้วยการซื้อประกันความเสี่ยงภัยพิบัติสูงขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนฯ วันที่ 28 มีนาคม 2555 ถึง 7 สิงหาคม 2556 มีจำนวนกรมธรรม์ภัยพิบัติทั้งสิ้น 1,592,240 ฉบับ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่จำนวน 1,404,267 ฉบับ ทุนประกันภัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 91,712 ล้านบาท และทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ที่ยังคุ้มครองอยู่จำนวน 52,629 ล้านบาท โดยขณะนี้ยังไม่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

กลุ่มบ้านอยู่อาศัยมีจำนวนกรมธรรม์สูงสุดจำนวน 1,330,323 ฉบับ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 94 ของจำนวนกรมธรรม์ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ทั้งหมด รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อมจำนวน 69,236 ฉบับสัดส่วนร้อยละ 5 และกลุ่มอุตสาหกรรมมีกรมธรรม์จำนวนทั้งสิ้น 4,708 ฉบับหรือร้อยละ 1

นอกจากนี้กลุ่มบ้านอยู่อาศัยยังมีจำนวนทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ สูงสุดจำนวน 32,767 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 ของทุนประกันภัยตามสัดส่วนของกองทุนฯ ทั้งหมด ถัดมาคือกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวน 11,612 ล้านบาทหรือสัดส่วนร้อยละ 22 และกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อมจำนวน 8,250 ล้านบาทหรือสัดส่วนร้อยละ 16 ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมมีจำนวนเบี้ยประกันภัยพิบัติสูงสุดที่ 216 ล้านบาทหรือสัดส่วนร้อยละ 40 ของเบี้ยประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ รองลงมาคือกลุ่มบ้านอยู่อาศัยจำนวน 215 ล้านบาท ในสัดส่วนร้อยละ 40 และท้ายสุดคือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อมจำนวน 104 ล้านบาทหรือสัดส่วนร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันภัยตามสัดส่วนของกองทุนฯ ทั้งหมด

ขณะที่ จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามการประมาณการของกองทุนฯ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐมนนทบุรี และกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมและมีการสร้างระบบป้องกันภัยพิบัติโดยเฉพาะน้ำท่วมไว้อย่างดีแล้วแต่ยังคงให้ความสำคัญต่อการทำประกันภัยพิบัติ โดยมีทุนประกันภัยตามสัดส่วนของกองทุนฯ รวมทั้งสิ้น 25,357 ล้านบาท แยกเป็นกลุ่มบ้านอยู่อาศัยจำนวน 16,179 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม 3,314 ล้านบาท และกลุ่มอุตสาหกรรม 5,864 ล้านบาท

ส่วนจังหวัดที่เหลืออีก 72 จังหวัดทั่วประเทศ มีทุนประกันภัยตามสัดส่วนของกองทุนฯ รวมทั้งสิ้น 27,272 ล้านบาท โดยมาจากกลุ่มบ้านอยู่อาศัย 16,589 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม 4,935 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวน 5,748 ล้านบาท

สำหรับรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติของกองทุนฯ จะเป็นแบบจำกัดความรับผิด(Sublimit) โดยมีความคุ้มครองดังนี้ คือ กลุ่มผู้เอาประกันประเภทบ้านอยู่อาศัยได้รับความคุ้มครองอัคคีภัยและภัยพิบัติในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อมที่มีทุนประกันภัยไม่เกิน 50 ล้านบาท จำกัดความรับผิดไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนประกัน และกลุ่มอุตสาหกรรมจำกัดความรับผิดไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนประกัน ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ มีมติขยายวงเงินการจำกัดความรับผิดเป็นร้อยละ 50 โดยให้พิจารณาเป็นกรณีๆ ไปซึ่งผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการขยายความคุ้มครอง

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น ภัยจากน้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ แม้ว่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทยจะอยู่นอกเขตพื้นที่เสี่ยงการเกิดภัยพิบัติตามการประมาณการของกองทุนฯ แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและธุรกิจอย่างมาก ดังนั้นการปิดความเสี่ยงภัยพิบัติด้วยการซื้อประกันก่อนภัยมาจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

กองทุนฯ มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจให้ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สิน และกิจการจากภัยพิบัติ รวมทั้งเข้าถึงความคุ้มครองภัยพิบัติได้อย่างทั่วถึง โดยประชาชนและธุรกิจสามารถซื้อประกันภัยพิบัติของกองทุนฯ ผ่านบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 51 แห่ง เพื่อรับความคุ้มครองภัยพิบัติ 3 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม ซึ่งกองทุนฯ กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยเดียวสำหรับแต่ละกลุ่ม ระหว่างร้อยละ 0.5-1.25 โดยกลุ่มบ้านอยู่อาศัย คิดอัตราเบี้ยที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม คิดอัตราเบี้ยที่ร้อยละ 1 ต่อปี และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรม คิดอัตราเบี้ยที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยทุกกลุ่มมีความสามารถในการชำระค่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคประชาชนและผู้ประกอบการส่งผลให้มีการทำประกันภัยอย่างกว้างขวาง

"การทำประกันภัยพิบัติล่วงหน้า ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการแก่ผู้ถือครองกรมธรรม์ ทั้งยังเอื้อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้แม้ยามเกิดภัยพิบัติ ตลอดจนเป็นหลักประกันสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า และผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างชาติในการดำเนินธุรกิจ และขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ" นายพยุงศักดิ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ