รมว.เกษตรฯ ยันไทยเป็นผู้นำยางในอาเซียน พร้อมชูแนวคิดให้สหกรณ์สวนยางกำหนดราคาเอง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 12, 2013 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ไทยยังคงยืนยันจุดยืนที่จะเป็นศูนย์กลางยางพาราของอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีศักยภาพทั้งด้านการผลิตและการส่งออก แต่การจะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราอาเซียนได้นั้น ประเทศไทยจะต้องเร่งหารือกันในกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่อีก 2 ประเทศ คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันในการรักษาเสถียรภาพราคายาง การวางแผนปริมาณผลผลิตทั้งโลก การบริหารจัดการผลผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด ปริมาณการส่งออกของแต่ละประเทศ และการศึกษาวิจัยร่วมกัน

ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ต้องมีการมาหารือกันใหม่ให้เกิดความชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันมีตัวแปรเพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการผลิตยางเช่นเดียวกัน ได้แก่ เวียดนาม พม่า ลาวและกัมพูชา ซึ่งในอนาคตอันใกล้ก็จำเป็นต้องดึงประเทศต่างๆ เหล่านี้เข้าร่วมหารือด้วย เพื่อไม่ให้กระทบต่อความผันผวนด้านราคา หากมีปริมาณผลผลิตยางออกสู่ตลาดมากเกินกว่าความต้องการของตลาด โดยสถานการณ์ผลิตยางและความต้องการของตลาดยางพารานั้นถือว่ายังคงมีความสมดุลกันอยู่ หากมีการบริหารจัดการที่ดีก็เชื่อว่าแนวโน้มสถานการณ์ยางพารายังเป็นพืชที่มีอนาคต

สำหรับการบริหารจัดการในเรื่องราคายางในประเทศ ทางกระทรวงเกษตรฯ มีแนวคิดที่จะให้สหกรณ์สวนยางที่เข้มแข็งในแต่ละจังหวัดสามารถกำหนดราคาน้ำยางข้นได้เอง ซึ่งมีเกษตรกรเป็นฐานในการผลิตเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การกำหนดราคาในตลาดกลางหาดใหญ่และเชื่อมไปถึงราคาในตลาดโลกได้เช่นกัน ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยเป็นการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันที่ราคายางในประเทศต้องอ้างอิงราคาในตลาดโลกเป็นหลัก โดยขณะนี้ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)คัดเลือกกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ที่มีศักยภาพมีความเข้มแข็งเข้ามาเป็นตัวหลักของจังหวัดในการกำหนดราคาน้ำยางดิบ ถ้าเราประกาศราคายางข้นให้แก่เกษตรกรได้เร็วศักยภาพเกษตรกรก็จะเพิ่มขึ้น

“เวลานี้ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพาราของไทยมีความเข้มแข็งและมีศัยภาพมาก แต่ทั้งนี้ ก็ต้องมาสนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาศักยภาพของตัวเองมีผลิตเบื้องต้นป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ ซึ่งการกำหนดมาตรการในเรื่องผลักดันอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำ โดยสนับสนุนวงเงินสินเชื่อรวมจำนวน 20,000 ล้าน แบ่งเป็น วงเงินที่ธ.ก.ส.จะเข้ามาสนับสนุนสถาบันเกษตรกร 5,000 และธนาคารออมสินที่จะดูแลในกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่วงเงิน15,000 ล้านในการปรับปรุงพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มปริมาณการแปรรูปผลผลิตยางในประเทศให้เพิ่มขึ้น ถ้าหากภาคอุตสหากรรมสามารถปรับตัวเองได้เร็วภายใน 5-6 เดือนนี้ก็น่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศจาก 5 แสนตันเป็น 1 ล้านตันได้ภายในปีหน้า" นายยุคล กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนา เรื่อง อนาคตอุตสาหกรรมยางพาราไทยกับการเป็นศูนย์กลางยางพาราอาเซียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ