ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ มองว่าการส่งออกของไทยน่าจะทยอยมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่การฟื้นตัวที่ล่าช้าของการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ต้องปรับลดคาดการณ์การส่งออกปี 56 ลงมาที่ขยายตัวเพียง 1.5% โดยมีกรอบการคาดการณ์อยู่ที่ 0.5-3.0%
นอกเหนือจากสินค้าส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างอาเซียนและจีนที่มีสัดส่วน 37%ของมูลค่าการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องปรับอากาศ ธุรกิจที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ทั้ง 3 ตลาดมีสัดส่วน 30% ก็น่าจะมีแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ที่ดี รวมทั้งการเจาะตลาดศักยภาพใหม่ที่เศรษฐกิจยังขยายตัวหรืออิงกับกรอบการเจราจาทวิภาคี (FTA) น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสการเติบโตสำหรับสินค้าบางรายการด้วย
สำหรับการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในวันที่ 17-18 ก.ย. 56 ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า เฟดจะเริ่มทยอยลดขนาดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนภายใต้มาตรการ QE อย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตลาดเงินและตลาดทุนโลกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก คาดว่าวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนน่าจะลดลงมาอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน จาก 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในปัจจุบัน โดยสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในสหรัฐที่สะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จะทำให้เฟดจะเริ่มชะลอมาตรการ QE ในการประชุม FOMC ในกลางเดือนก.ย.นี้
แต่อย่างไรก็ตาม แม้เฟดจะเริ่มชะลอมาตรการ QE ในเดือนก.ย. แต่คาดว่าเฟดยังคงย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะยืนในระดับต่ำต่อไป เนื่องในช่วงอีกหลายเดือนข้างหน้าคาดว่าจะมีสัญญาณแรกของการเตรียมเข้าสู่วัฏจักรการคุมเข้มของเฟดด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นอาจจะเริ่มขึ้นในปลายปี 57 เป็นอย่างเร็ว
ส่วนค่าเงินบาทถึงแม้ว่าตลาดอาจรับรู้การชะลอมาตรการ QE ของเฟดมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ศูนย์วิจัยฯ มองว่ายังต้องรับมือกับความผันผวนของค่าเงินในช่วงอีกหลายเดือนต่อจากนี้ตามสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังไม่นิ่ง ทำให้ยังมีความผันผวนค่าเงินในช่วงต่อจากนี้หลังการปรับลดมาตรการ QE ลง