นายกฯ ระบุรัฐบาลวางยุทธศาสตร์ประเทศเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 16, 2013 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมประจำปี 2556 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ในหัวข้อ "รัฐบาลกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ว่า อาเซียนมีพันธสัญญาร่วมกันว่าในปี 58 ทั้ง 10 ชาติในอาเซียนจะรวมกันเป็น 1 ภายใต้ 3 เสาหลัก คือ ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

รัฐบาลต้องปรับสมดุลให้ไทยอยู่ได้หากเศรษฐกิจโลกผันผวน ต้องรักษาฐานเดิม และขยายฐานใหม่ การสร้างความเข้มแข็งในประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยวาง 4 ยุทธศาสตร์ประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อม ได้แก่ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการยกระดับรายได้ประชาชนให้ก้าวสู่กลุ่มประเทศรายได้สูง และต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบของไทยไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น กฎระเบียบที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ เพราะกฎระเบียบที่ล้าหลังทำให้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อกีดกันทางการค้า,

การสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม โดยการพัฒนาคุณภาพคนจะต้องดูแลประชากรทุกช่วงวัย รวมถึงการปฏิรูปการศึกษา เพื่อสร้างคนให้สอดคล้องกับความต้องการของโลก, การทำให้เศรษฐกิจเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อทำให้ระบบการบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในหลายด้านที่เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน, เงินบาทแข็งค่าจนกระทบการส่งออกไทยในครึ่งปีแรก จนทำให้ยอดส่งออกต่ำกว่าคาดหมายนั้น เชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้จากที่เงินบาทเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลง และเศรษฐกิจโลกรวมทั้งในอาเซียนเริ่มฟื้นตัว ก็จะช่วยผลักดันให้การส่งออกของไทยฟื้นตัวดีขึ้นได้

ทั้งนี้ ยอมรับว่าตลาดหลักทั้งสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น ที่เป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทยมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นจึงต้องหาตลาดใหม่เพิ่มเติม แม้รัฐบาลได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่รายได้จากการท่องเที่ยวยังมีขนาดไม่พอในการทดแทนการส่งออกที่หดตัว ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมการพัฒนาในระยะยาว การนำวัตถุดิบทางการเกษตร มาสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการแปรรูป การนำบทวิจัยมาพัฒนาต่อยอดสินค้า เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลมีแผนจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบราชการมากขึ้นในทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะการป้องกันทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งนี้เพื่อควบคุมดูแลให้ทุกโครงการลงทุนเกิดความโปร่งใส นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เอกชนลงทุนใกล้กับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง และเข้ามาร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อเกิดพื้นที่เศรษฐกิจแนวใหม่และทำให้ต่างจังหวัดมีความเจริญขึ้น

นอกจากนี้โครงสร้างประชากรของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องหันมามองการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ผู้สูงอายุ เพราะในอีก 30 ปีข้างหน้าสัดส่วนผู้สูงอายุของไทยจะเพิ่มจากร้อยละ 14 เป็น ร้อยละ 27 ซึ่งเร็วมาก ดังนั้นในปี 68 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัว ซึ่งกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศ จึงต้องหาทางในการดูแลผู้สูงอายุ และจะต้องเร่งหาทางปรับโครงสร้างประชากร เพราะถ้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไทยอาจจะขาดแคลนแรงงานในวัยทำงานได้

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การมีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นฐานการผลิตเดียว จึงต้องมุ่งดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศด้วยการเร่งรัดให้ประเทศสมาชิกอื่นมีการปรับลดอัตราภาษี และการยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้า

ขณะเดียวกันต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันการเงินให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการกฎหมายค้มครองนักลงทุนและผู้บริโภค การพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับการการขยายตัวของแนวโน้มอุตสาหกรรม การพัฒนาสาขาวิชาชีพรองรับการเปิดเสรี การสนับสนุนให้เอกชนผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่นนแปลงไป เพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่ม

สำหรับผลการประเมินในช่วงปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พบว่า ดัชนีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันเพิ่มจากร้อยละ 69.87 ในปี 54 มาเป็นร้อยละ 71.36 ในปี 55 ซึ่งเกิดจากความเข็มแข็งของชุมชน หลังจากดัชนีความเข้มแข็งของชุมชนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 76.47 ในปี 54 มาเป็นร้อยละ 81 ในปี 55 ซึ่งนับว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ