"ศุภวุฒิ"คาดทิศทางของมาตรการ QE ชัดเจนขึ้น หลังได้ประธานเฟดคนใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 16, 2013 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวถึงการปรับลดขนาดมาตรการ QE ของสหรัฐฯว่า น่าจะมีความชัดเจนขึ้นได้หลังจากได้ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)คนใหม่ เชื่อว่าการดำเนินการปรับลดมาตรการ QE จะราบรื่นขึ้น ส่วนจะดำเนินการอย่างไรนั้นตลาดได้คาดการณ์ไว้ในแนวทางต่างๆ เช่น อาจลดการพิมพ์ธนบัตรลงจาก 85,000 ล้านดอลลาร์ มาเหลือ 75,000 ล้านดอลลาร์ โดยจะไปสิ้นสุดมาตรการ QE ในช่วงไตรมาส 3/57

ส่วนผลกระทบต่อไปจากการทยอยปรับลดมาตรการ QE นั้น ที่ผ่านมาตลาดได้รับรู้มาตลอดแล้ว เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลง และการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร แต่ในส่วนของค่าเงินบาทคงต้องดูประเด็นอื่นประกอบ เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย แต่หากพิจารณาแนวโน้มแล้วเชื่อว่าเงินบาทน่าจะมีทิศทางอ่อนค่า ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาว คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับขึ้น เพราะดอกเบี้ยระยะยาวของไทยจะผูกโยงกับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มาโดยตลอด ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นเครื่องมือที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งคงไม่กดดดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปรับตาม

นายศุภวุฒิ ยังกล่าวถึงการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ลงเหลือ 20% นั้น อาจจะไม่ได้ช่วยในการขยายฐานภาษีตามเป้าหมายของรัฐบาล เพราะไม่เชื่อว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐจะเพิ่มขึ้นจากส่วนนี้ เนื่องจากมองว่าฐานภาษีเดิมที่มีบริษัทในไทยอยู่ 2-3 ล้านบริษัทนั้น เป็นบริษัทที่เสียภาษีถูกต้องเพียงระดับพันบริษัทเท่านั้นและส่วนใหญ่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นเมื่อมีการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงไม่เชื่อว่าจะจูงใจให้บริษัทที่ไม่เคยเสียภาษีกลับมาเสียภาษีได้ แต่สิ่งที่รัฐบาลคาดหวังเมื่อปรับลดอัตราภาษีให้ต่ำลงคือจะช่วยจูงใจให้คนมาลงทุนเพิ่ม และจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจากบริษัทใหม่ๆ ที่เข้ามาลงทุน แต่คงไม่ใช่มีรายได้เพิ่มจากการขยายฐานภาษี

ทั้งนี้หากการจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอาจจะเกิดภาวะช็อตได้ ดังนั้นจึงเสนอว่าสิ่งที่รัฐบาลพอจะทำได้คือการยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวที่ประสบปัญหาขาดทุนถึงปีละ 3 แสนล้านบาท ซึ่งน่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะหากเทียบกับแนวทางอื่น เช่น การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)จาก 7% เป็น 10% นั้นคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งนักการเมืองคงไม่เลือกใช่วิธีนี้เพราะอาจจะกระทบต่อฐานเสียงสนับสนุนรัฐบาลรวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาล

"ญี่ปุ่นปัจจุบันมีหนี้สาธารณะ 230% เพิ่งจะกลั้นใจขึ้น VAT แต่ของเราหนี้สาธารณะ 45% ก็คงจะยังไม่ปรับขึ้น VAT ตอนนี้"นายศุภวุฒิ กล่าว

ส่วนการเตรียมความพร้อมของไทยในด้านการเงินการคลังและการค้าการลงทุนเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)นั้น นายศุภวุฒิ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เตรียมตัวมานานอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ไทยได้เตรียมพร้อมมาโดยตลอด ดังนั้นจึงเชื่อว่าไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรจากการเข้าสู่ AEC


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ