ประกอบกับปริมาณความต้องการบริโภคไข่ไก่ที่จะเริ่มลดลงในช่วงระยะเวลา 1-2 สัปดาห์นี้จาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ โรงเรียนปิดเทอมและเทศกาลกินเจ ดังนั้น ทิศทางราคาไข่ไก่จะมีแนวโน้มที่อ่อนตัวลงอย่างแน่นอนและในระยะสั้นๆ ราคาจะไม่เพิ่มไปมากกว่า 3.50 บาท/ฟอง ซึ่งทางสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็ยืนยันที่จะตรึงราคานี้เช่นกัน เนื่องจากเมื่อพิจารณาในส่วนของต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเฉลี่ยฟองละ 2.94 บาท เกษตรกรจะมีกำไรเฉลี่ยฟองละ0.56 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้และไม่กระทบต่อการเลี้ยงไก่ไข่ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเตรียมเสนอกระทรวงพาณิชย์ในการกำหนดราคาไข่ธงฟ้าให้มีความสอดคล้องกับราคาไข่คละหน้าฟาร์มของเกษตรกร เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาขายของเกษตรกร
ด้านสถานการณ์ด้านการตลาดและราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้ในปัจจุบันฟองละ 3.50 บาท ราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.95 บาท ส่วนพันธุ์สัตว์ลูกไก่ไข่ราคาเฉลี่ยตัวละ 25 บาท ไก่ไข่สาว 18 สัปดาห์ เฉลี่ยตัวละ 155 บาท ขณะที่การส่งออกไข่ไก่สดปี 2556 ถึงเดือนกรกฏาคมทั้งหมดจำนวน 182.17ล้านฟอง คิดเป็นมูลค่า 514.10 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาโดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 203.92% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 176.86%
ขณะที่ปริมาณนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (P.S) เข้าเลี้ยงตั้งแต่เดือน ม.ค.- ส.ค.56 มีการนำเข้าเลี้ยงจริงจำนวน 426,816 ตัว จากแผนการเลี้ยง P.S จำนวน 659,132 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 16.29% ขณะที่ปริมาณการเคลื่อนย้ายไก่ไข่เข้าเลี้ยงตามใบอนุญาตเคลื่อนย้ายผ่านระบบ E-movement เป็นลูกไก่ไข่ 33.46 ล้านตัว และไก่ไข่ปลดระวาง 20.45 ล้านตัว ซึ่งลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็น 5.61% และ 5.57% ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าไก่ไข่รุ่นเข้าเลี้ยงจำนวน 18 ล้านตัว ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วคิดเป็น 3.37%
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอที่กรมการค้าภายในที่เสนอขอให้เอ้กบอร์ดทบทวนระดับส่วนต่างของกำไรกับระดับต้นทุนการผลิตลงมาอยู่ที่ 10 — 15% จากเดิมที่ 15 — 20% ในช่วงสถานการณ์ผลผลิตไข่ไก่ขาดแคลนนั้น ที่ประชุมพิจารณาแล้วว่าจะส่งผลกระทบและเพิ่มความเสี่ยงให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากต้นทุนการผลิตไก่ไข่และไข่ไก่ในเดือนกันยายนพบว่าต้นทุนไข่ไก่ฟองละ 2.94 เมื่อคำนวณผลกำไรตามสัดส่วนแล้วราคาไข่คละหน้าฟาร์มจะอยู่ที่ 3.58 บาท ซึ่งต้นทุนที่ไม่สามารถปรับลดได้นั้นเนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประสบปัญหาแม่ไก่ให้ผลผลิตที่ลดลงกว่า 20% จากปัญหาสุขภาพสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ที่ประชุมได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ประชุมสัตวแพทย์ประจำฟาร์มไก่ไข่ทั่วประเทศ เพื่อทำการตรวจสอบสาเหตุของโรคที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตที่ชัดเจนโดยเร่งด่วน