CIMBT คาดGDP ปี 57 โต 3.4%จากปีนี้คาดชะลอตัวเหลือ 2.8%หลังบริโภค-ส่งออกกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 18, 2013 10:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะชะลอตัวลงและมีอัตราการเติบโตที่ 2.8% โดยไตรมาส 3/56 จะหดตัวลงอีกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/56 ซึ่งจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ ก่อนที่จะปรับขึ้นมาเติบโตได้ในไตรมาส 4/56 แต่แม้จะเติบโตขึ้นจากไตรมาส 3/56 แต่จะยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานที่สูงในปีก่อนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

โดยสำนักวิจัยฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 57 จะยังคงอยู่ในภาวะการเติบอย่างช้าๆ จากการบริโภคที่ยังคงอ่อนแอ และคาดว่าจะปรับตัวขึ้นไปที่ 3.4%

ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญ 2 ประการ ประการแรก ไทยจะเข้าสู่ช่วงแห่งการเติบโตที่ช้าลงกว่าก่อน เป็นผลสืบเนื่องจากการบริโภคที่ชะลอตัวลง หลังจากที่เร่งตัวขึ้นมากในปีก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงขึ้น โดยครัวเรือนจะเหลือเงินเพื่อการบริโภคลดลงหลังจากหักค่าเงินผ่อน, ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายพื้นฐานอื่นๆ เมื่อการบริโภคลดลงธุรกิจก็จะปรับลดการลงทุน โดยคาดการณ์ว่าภาวะการชะลอตัวของการบริโภคจะยังคงอยู่อีกราว 2 ปีเป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะฟื้นมาเติบโตได้เหมือนในช่วงก่อนหน้า

นอกจากนี้เศรษฐกิจต่างประเทศคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยได้อย่างจำกัด โดยเฉพาะจีนที่อาจใช้เวลาปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสหรัฐฯที่ยังเติบโตได้อย่างเปราะบางในตลาดแรงงาน และอาจจะกลายมาเป็นผู้ส่งออกสำคัญที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยคาดว่าจะฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4/56 ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ในปีนี้และปีหน้า

ส่วนปัญหาประการที่สอง คือ ตลาดการเงินจะเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องตึงตัว อันจะส่งผลในเชิงลบต่อการลงทุนของไทย โดยเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 51 ที่มีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องในอดีตและสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยเร่งการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้เปลี่ยนสินทรัพย์, สภาพคล่อง หรือเงินทุนไหลเข้ามาเป็นสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง หรือสินเชื่อที่ปล่อยกู้ หากเงินทุนหยุดไหลเข้าหรือมีการไหลออกมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับลดหรือถอนมาตรการ QE ของเฟด สภาพคล่องในตลาดเงินอาจเกิดภาวะตึงตัวได้

ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น สำนักวิจัยฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวและภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะนำมาพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% สู่ระดับ 2.25%ในปีนี้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน และคงดอกเบี้ยในระดับนี้ต่อไปในปีหน้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

สำหรับทิศทางค่าเงินบาทนั้น มองว่าเงินบาทจะแข็งค่าได้อีกระยะหนึ่งหลังมาตรการ QE มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เงินลงทุนจะไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคนี้ได้ชั่วคราว และส่งผลให้เงินบาทมาแตะที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้ แต่กระแสเงินทุนจะไหลออกในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวและจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 58 ซึ่งจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ โดยคาดว่าจะแตะที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ในสิ้นปี 57

ด้านนายบรรลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศ G3(สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น) และจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยมีเพียงสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างค่อนข้างมั่นคง ขณะที่ประเทศอื่นมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาการชะลอตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 57

นอกจากนี้เศรษฐกิจของ G3 และจีนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าปกติเมื่อเทียบกับอดีต ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีผลต่อการส่งออกของไทยน้อยกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะขยายตัวช้า ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำในอีก 2-3 ปีข้างหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ