ส.อ.ท.ห่วงค่าเงินบาทผันผวนหากเฟดลด QE ขอภาครัฐดูแลให้มีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 18, 2013 13:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดมาตรการ QE ว่า มีความเป็นห่วงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจจะผันผวนอีกครั้ง เพราะน่าจะมีเคลื่อนย้ายเงินดอลลาร์กลับไป จึงขอให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ รวมทั้งควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงผลักดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่สนับสนุนต้องการให้มีพ.ร.บ.2 ล้านล้านบาท
"ถ้ามาตรการ QE ลดลงแสดงว่าสหรัฐค่อนข้างแน่ใจว่าเศรษฐกิจเข้าที่ ระบบเศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะปกติ เป็นไปตามกลไกตลาด เป็นไปตามกลไกการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาหลายประเทศก็ใช้มาตรการ QE เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งถ้าสหรัฐลด QE ก็จะทำให้ทุกอย่างกลับมาเติบโตสอดคล้องกับความเป็นจริง ถ้าเศรษฐกิจดีก็คงจะมีผลทางบวกต่อการส่งออกของประเทศไทย แต่ก็ต้องดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะถูกนำกลับไปเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศก่อน ไม่ล้นตลาดแล้ว ก็อาจจะทำให้ค่าเงินมีความผันผวน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูแลให้สอดคล้องกับประเทศคู่แข่งด้านการส่งออก"นายพยุงศักดิ์ กล่าว

ส่วนพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่จะมีการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา เชื่อมั่นว่าจะเป็นเรื่องที่ดี โดยจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศได้

ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวนั้นจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการขยายเส้นทางคมนาคมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาคเอเชียได้

ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ส.อ.ท.ยังมั่นใจว่ายอดผลิตรถยนต์ในปีนี้จะอยู่ที่ 2.55 ล้านคัน หลังยอดส่งออกและยอดขายในประเทศยังเติบโตดี โดยเฉพาะหากเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่อง

ส่วนเรื่องกลุ่มเกษตรกรออกมาเรียกร้องเรื่องราคายางนั้น เบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลใจ เพราะทำให้ผิดนัดคำสั่งซื้อ ต้องเดินทางอ้อม ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวเกิดปัญหา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อ

นายพยุงศักดิ์ มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะเติบโต 4% โดยมีทิศทางใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านที่ปรับตัวลดลงเช่นกัน หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในทิศทางชะลอตัว โดยในไตรมาสที่ 4 จะต้องรอดูสัญญาณความเชื่อมั่นจากดัชนีว่าอยู่ในทิศทางใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ