พร้อมแสดงความมั่นใจว่า ร่างพ.ร.บ.2 ล้านล้านบาทไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลได้ดำเนินการถูกต้องตามข้อกฏหมาย และไตร่ตรองอย่างรอบคอบทั้งจากรัฐบาลและคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งกฏหมายนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
"ขอเรียกร้องให้ผู้ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศึกษาถึงข้อกฏหมายให้ชัดเจนอีกครั้งและให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ"นายกิตติรัตน์ กล่าว
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตนเองพร้อมรับฟังคำอภิปรายร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท และชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ และไม่ได้เป็นโครงการที่ดำเนินการภายในปีเดียว แต่เป็นโครงการระยะยาวที่ใช้เวลา 7 ปี ซึ่งเมื่อเฉลี่ยแล้วถือว่าเป็นการใช้งบประมาณที่เหมาะสม
"รัฐบาลคำนึงถึงความโปร่งใส โดยมีการจัดทำระเบียบจัดซื้อจัดจ้างและส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นเพียงกรอบการดำเนินงาน" นายชัชชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติ มั่นใจว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากได้มีการหารือกับกฤษฎีกามาโดยตลอด แต่หากจะมีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ถือเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ ซึ่งพร้อมจะชี้แจง
ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่ามีการเพิ่มงบประมาณของโครงการรถไฟความเร็วสูงไว้สูงกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้ในตอนต้นนั้น นายชัชชาติ ยืนยันว่า ตัวเลขมีพัฒนาการมาตามลำดับ เนื่องจากการประเมินราคาในตอนต้นได้ทำไว้ใน 2 ปีที่แล้ว ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ารถไฟตกรางบ่อยนั้น ถือเป็นการกดดันให้เกิดโครงการรถไฟความเร็วสูง ยืนยันว่า เป็นไปไม่ได้ เพราะรางรถไฟเป็นเรื่องความเสื่อมโทรม และยืนยันว่าคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้บริการมากกว่าเรื่องอื่น
ด้านนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายรัฐมนตรีและ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยมีกระบวนการตรวจสอบและผ่านขั้นตอนของรัฐสภา ซึ่งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญตามที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกต เพราะได้สอบถามกฤษฎีกาและพิจารณาอย่างรอบคอบ มั่นใจว่าสามารถชี้แจงได้ทุกขั้นตอน และเชื่อว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจะไม่วุ่นวายเท่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกฎหมายสำคัญเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ประเด็นทางการเมือง จึงเชื่อว่าไม่มีการกระทบกระทั่ง แต่ก็ขอเรียกร้องให้พิจารณาตามกรอบเหตุและผล