"ทุกประเทศในโลกที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย จะไม่มีประเทศใด ที่ยินยอมให้รัฐบาลใช้เงินส่วนรวม แบบตามสบาย ตามอำเภอใจ อยากใช้เงินเมื่อไหร่ ก็เขียนเช็คเอาๆ แบบนี้ไม่มีครับ แต่ทุกประเทศ รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีการกำกับดูแลการใช้เงินส่วนรวมโดยรัฐบาลไว้ทั้งสิ้น ผ่านกระบวนการงบประมาณ ซึ่งรัฐธรรมนูญจะมีข้อบังคับให้การเสนองบประมาณต่อรัฐสภาต้องโปร่งใสและมีข้อมูลครบถ้วน มีขบวนการเบิกจ่ายที่รัดกุม และมีขบวนการตรวจสอบติดตามการใช้เงินโดยรัฐสภา ดังนั้น การที่รัฐบาลไปออกกฎหมายเฉพาะที่เปิดให้มีการใช้เงิน โดยหลีกเลี่ยงกระบวนการงบประมาณ จึงผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน"นายธีระชัย ระบุ
นายธีระชัย เสนอทางออกให้รัฐบาลด้วยการจัดให้มีกระบวนการตรวจสอบที่ดีและรัดกุมที่มีอยู่แล้ว ก็คือกระบวนการงบประมาณ แม้รัฐบาลจะชี้แจงเหตุผลหลักสำคัญที่จำเป็นจะต้องออกเป็นกฎหมายเฉพาะ เนื่องจากโครงการลงทุนใช้เวลานาน หากทำเป็นงบประมาณรายปี และต่อไปเกิดเปลี่ยนรัฐบาล หากมีการยกเลิกหรือไม่ทำต่อก็จะเสียหายนั้น ตนเองไม่เห็นด้วย เพราะหากรัฐบาลเห็นว่ากฎหมายและวิธีการงบประมาณที่ใช้อยู่นั้นยังไม่สามารถเอื้ออำนวยต่อการลงทุนโครงการที่ต้องทำต่อเนื่องหลายๆ ปีได้ รัฐบาลก็ควรเร่งแก้ไขกฎหมายงบประมาณ เพื่อให้สามารถมีการเกี่ยวเชื่อมโยงบางรายการ จากปีที่หนึ่ง ไปปีที่สอง ไปปีที่สาม หรือจะกี่ปีก็ได้ จนกว่าโครงการจะแล้วเสร็จ
"พูดง่ายๆ หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะให้มีการตรวจสอบ แทนที่จะเสนอกฎหมายสองล้านล้าน ที่มีเอกสารประกอบเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเพียงสองแผ่น (ย้ำ - สองแผ่น) รัฐบาลก็ควรจะแก้ไขกฎระเบียบ ให้กรอบงบประมาณ สามารถรองรับการลงทุนแบบต่อเนื่องข้ามหลายๆ ปีได้...ผมมั่นใจว่าหากรัฐบาลเสนอการลงทุนสองล้านล้าน ให้อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณ โดยมีการแก้ไขกฎหมายงบประมาณก่อน ฝ่ายค้านและวุฒิสมาชิกก็คงเห็นด้วย"นายธีระชัย ระบุ
สำหรับกรณีที่นักธุรกิจหลายรายกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มซบเซาอย่างรวดเร็ว และหวังว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งนั้น นายธีระชัย ระบุว่า หากกฎหมายฉบับดังกล่าวไม่ผ่าน ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจคงจะไม่เร่งตัวหวือหวามากนัก แต่รัฐบาลก็จะยังสามารถแยกส่วนโครงการภายใต้พ.ร.บ.นี้ ด้วยการนำโครงการที่ไม่มีเสียงคัดค้าน เช่น รถไฟรางคู่ การขนส่งทางแม่น้ำ ฯลฯ ไปดำเนินการตามกระบวนการงบประมาณปกติได้ คงเหลือแต่โครงการที่อาจยังมีการถกเถียงกันอยู่ คือ โครงการที่ลงทุนสูง อย่างเช่น รถไฟความเร็วสูง
ส่วนภาวะธุรกิจแผ่วเร็ว ก็เป็นเพราะในช่วงที่สหรัฐดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดๆ ช่วงที่สหรัฐมีการพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาอย่างหนักหน่วงนั้น เงินได้ไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมหาศาล ผลักดันให้ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศกำลังพัฒนา เกิดสภาวะบูมขึ้นอย่างแรง
เมื่อเงินได้ไหลกลับออกไปมากแล้ว เหลืออยู่แต่ฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการค้าที่ซบเซามากขณะนี้มีต้นเหตุหลักสองประการ คือ ประการแรก โครงการประชานิยมแบบกระตุ้นการอุปโภคบริโภคที่ควบคู่ไปกับดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไปชักนำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ต่อไปนี้ประชาชนต้องประหยัดมากขึ้นกว่าเดิม และ ประการที่สอง ฟองสบู่ที่แตกในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ทำให้ความต้องการซื้อคอนโดและที่ดิน ประเภทที่ซื้อเพื่อเก็งกำไร หรือเพื่อลงทุนลดลงอย่างมาก
"ผมเองได้ออกมาเตือนกระทรวงการคลังหลายครั้ง ผ่าน FACEBOOK นี้ แนะนำให้ใช้อำนาจกระทรวงการคลัง ชะลอเงินทุนไหลเข้าลงบ้าง ไม่ว่าด้วยวิธีเก็บภาษีดอกเบี้ยที่นักลงทุนต่างชาติได้ไปจากไทย หรือวิธีอื่น แต่รัฐมนตรีคลังแทนที่จะสนใจหาวิธีใช้อำนาจของกระทรวงการคลัง กลับไปจ้ำจี้จ้ำไชให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย"นายธีระชัย ระบุ