(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.จับตาบาทใกล้ชิดหลังเฟดคง QE พร้อมเข้าดูแลหากผันผวนกระทบศก.แรง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 19, 2013 12:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นหลุดจากระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ ในขณะนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นในระยะสั้น หลังจากการคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) คงขนาดมาตรการ QE ไว้ที่เดิม อย่างไรก็ตาม ธปท.มีการติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมเข้าดูแลหากมีความผันผวนจนกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างแรง

ทั้งนี้ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/56 จะขยายตัวดีกว่าทุกไตรมาส แต่อาจไม่สูงเท่าไตรมาส 4/55

"การแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าวเป็นไปตามทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค และเชื่อว่าเป็นการปรับตัวของตลาดจากที่ก่อนหน้านี้ตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเงินบาทได้อ่อนค่าลงมาตลอดสอดคล้องกับตลาดเงินโลก จากที่มีปฏิกิริยาต่อข่าวว่าเฟดมีความต้องการจะลดขนาดมาตรการ QE ลงถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคของการจ้างงาน

...พอเฟดยังไม่ลด QE ในรอบนี้ ตอนเช้าตลาดก็ปรับตัวกลับ ทั้งสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ ตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ ช่วงที่ผ่านมาอ่อนตัวไปค่อนข้างมาก รวมทั้งเงินบาท พอเช้านี้ก็ปรับตัวขึ้นมา คนก็กลับเข้ามาลงทุน แต่จะไปเยอะหรือรุนแรงแค่ไหนนั้น ระยะสั้นๆ เราเห็นมันปรับตัว ไม่ใช่เฉพาะเงินบาท แต่สกุลในภูมิภาคก็แข็งค่าขึ้นจากช่วง 2 เดือน คิดว่าน่าจะมี limit เพราะเฟดบอกว่าพยายามวางแผนทยอยลด QE แต่ว่าเมื่อไหร่เท่านั้นเอง และเชื่อว่าตลาดการเงินทั่วโลกต่างจับตาดูผลการประชุมเฟดในรอบเดือน ธ.ค.อีกครั้ง"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าไปแตะระดับ 31 บาทต้นๆ จะมีความสอดคล้องต่อเศรษฐกิจไทยในขณะนี้หรือไม่นั้น นายประสาร กล่าวว่า ขณะนี้เงินบาทได้ปรับตัวกลับมาแข็งค่าหลังจากที่อ่อนค่าไปถึง 32 บาทกว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งธ ปท.จะติดตามภาวะตลาดอย่างใกล้ชิด หากค่าเงินบาทมีความเปลี่ยนแปลงหรือผันผวนมากเกินไปจนอาจจะส่งผลกระทบค่อนข้างแรงต่อเศรษฐกิจ ธปท.ก็พร้อมเข้าไปดูแล แต่หากเป็นเพียงการปรับตัวของตลาดในช่วงระยะสั้นๆ เท่านั้น ธปท.ก็คงจะปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเอง

อย่างไรก็ดี คงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าในช่วงสิ้นปีนี้เฟดจะชะลอหรือยกเลิกมาตรการ QE ในช่วงใด เพราะการทำมาตรการ QE3 มีเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งต่างจากมาตรการ QE1 และ QE2 ที่เงื่อนไขเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกรอบปฏิทิน ซึ่งสหรัฐถือว่าได้บทเรียนแล้วหลังจากการทำ QE1 และ QE2 ที่ทำให้เศรษฐกิจฟุบไป

“เราไม่ต้องตระหนกอะไร มันเป็นการปรับตัวของตลาดเงิน มีการปรับตัวช่วงสั้นๆ ที่อาจจะมากหน่อย แต่เมือไปถึงจุดหนึ่งก็เชื่อว่าจะมีเสถียรภาพ" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

กรณีที่เฟดยังคงมาตรการ QE3 ไว้จะเป็นการแสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ได้ฟื้นตัวจริงอย่างที่คาด และจะกระทบต่อการคาดการณ์เศรษฐกิจของทั่วโลก รวมถึงการส่งออกในระยะต่อไปหรือไม่นั้น นายประสาร กล่าวว่า โดยรวมเศรษฐกิจสหรัฐยังมีแนวโน้มฟื้นตัว เพียงแต่อาจไม่ใช่การฟื้นตัวที่เข้มแข็งในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น เพื่อความรอบคอบเฟดจึงประคับประคองด้วยการคงมาตรการ QE3 ไว้ก่อน

แต่จะมีผลต่อภาวะการค้าโลกและการส่งออกของไทยอย่างไรนั้น นายประสาร มองว่า โดยทั่วไปแล้วการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 4 มักจะดีกว่าไตรมาสอื่นๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของทุกฤดูกาล ดังนั้น ในปีนี้ก็เชื่อว่าจะยังเป็นเช่นนั้น

“ปีนี้น่าจะยังเป็นอย่างนั้น ถ้าเทียบไตรมาส 3, 2, 1 แล้ว ไตรมาส 4 น่าจะยังดีกว่า ส่วนจะดีกว่าไตรมาส 4 ปีก่อนหน้าหรือไม่นั้น ไตรมาส 4 ปีที่แล้วมันพิเศษตรงที่เป็นปีของการฟื้นตัวจากน้ำท่วม มีมาตรการของภาครัฐมากระตุ้นค่อนข้างมาก ดังนั้นไตรมาส 4 ปีที่แล้วฐานค่อนข้างสูง แต่ถ้าเทียบกับไตรมาส 3, 2, 1 ของปีนี้แล้ว เชื่อว่าไตรมาส 4 จะดีกว่าแน่นอน"ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ