ทั้งนี้ ระยะเวลารับจำนำ ในช่วงนาปี (ครั้งที่ 1) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56-28 ก.พ.57 ส่วนภาคใต้ เริ่มวันที่ 1 ต.ค.56-31 ก.ค.57 โดยกำหนดราคารับจำนำเท่าเดิม คือ ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 20,000 บาท จำกัดวงเงินการรับจำนำไม่เกินครัวเรือนละ 350,000 บาท ส่วนช่วงนาปรัง (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-30 ก.ย.57 ภาคใต้ เริ่มวันที่ 1 ส.ค.-30 พ.ย. 57 โดยปริมาณการรับจำนำยังไม่กำหนด เพราะต้องพิจารณาจากงบประมาณที่เหลือจากการรับจำนำรอบที่ 1 ก่อน เพราะวงเงินรับจำนำข้าวปี 56/57 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัตินั้นให้ใช้รับจำนำทั้ง 2 รอบ ซึ่งในรอบที่ 1 ใช้เงินไปเท่าไร ส่วนที่เหลือจึงจะนำมาใช้จำนำข้าวรอบ 2
"ยืนยันว่า วงเงินที่จะมาใช้ในโครงการรวม 270,000 ล้านบาทนั้น จะมีเพียงพอ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกันทำงานกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด และขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ กำลังเร่งระบายข้าว เพื่อส่งเงินคืนให้กระทรวงการคลังเพื่อมาใช้ในโครงการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการใช้เงินกู้บางส่วนมาดำเนินโครงการด้วย" รมว.พาณิชย์ กล่าว
รมว.พาณิชย์ ยืนยันว่าการรับจำนำข้าวครั้งนี้จะเน้นการปรับปรุงระบบให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ทั้งการเพิ่มตัวแทนเกษตรกร เข้ามามีส่วนร่วมในการับจำนำในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งอยู่ระหว่างเร่งเชื่อมโยงข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ จากจุดรับจำนำแต่ละแห่งไปยังอคส. เพื่อตรวจสอบในทุกขั้นตอนการรับจำนำ ซึ่งปิดช่องโหว่การทุจริตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้