"เกษตรกรที่ได้รับมอบสมุดทะเบียนเกษตรกรแล้ว จะได้รับประโยชน์ในการใช้แสดงตนว่าเป็นเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ข้อมูลในสมุดทะเบียนเกษตรกรจะใช้เป็นหลักฐานในการขอรับบริการและความช่วยเหลือจากรัฐบาลตามนโยบายและโครงการต่าง ๆ ได้โดยสะดวกรวดเร็ว และจะใช้เป็นเอกสารที่ถูกต้องแทนใบรับรองการขึ้นทะเบียน เพื่อเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ในโอกาสต่อไป" นายวราเทพ กล่าว
อนึ่ง กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการนำข้อมูลจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกร มาบันทึกในสมุดทะเบียนเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีข้อมูลแสดงความเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว และเกษตรกรสามารถนำไปใช้ขอรับความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ และการเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ ซึ่งข้อมูลในสมุดทะเบียนเกษตรกร ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 : ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ สถานที่ขึ้นทะเบียน รหัสทะเบียนเกษตรกร วันที่ขึ้นทะเบียน ชื่อเกษตรกรผู้ขึ้นทะเบียน เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด เลขรหัสประจำบ้าน ที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
ส่วนที่ 2 : ข้อมูลสมาชิกในครัวเรือน ได้แก่ ชื่อ-สกุล เลขประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด การเป็นสมาชิกองค์กร ส่วนที่ 3 : การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตร ได้แก่ ที่ตั้งแปลง เอกสารสิทธิ์ ประเภทและเลขที่ เนื้อที่การถือครอง ของตนเองหรือเช่า เขตชลประทาน ส่วนที่ 4 : การประกอบกิจกรรมการเกษตร (พืช/ปศุสัตว์/ประมง) ได้แก่ วันที่เริ่มปลูกหรือวันที่เริ่มเลี้ยง วันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิต จำนวนผลผลิต ส่วนที่ 5 : การเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ได้แก่ การขอรับความช่วยเหลือกรณีเกษตรกรได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ การเข้าร่วมโครงการรับจำนำของรัฐบาล เป็นต้น
สำหรับผลการดำเนินงาน ปี 2555 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำสมุดทะเบียนเกษตรกรใน 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น นครศรีธรรมราช เชียงราย และพิษณุโลก สามารถดำเนินการจัดทำสมุดทะเบียนเกษตรกรได้จำนวน 1,577,196 ครัวเรือน และในปี 2556 ได้ขยายผลการจัดทำสมุดทะเบียนเกษตรกรให้ครบทั้งประเทศรวม 77 จังหวัด 882 อำเภอ 7,354 ตำบล เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 7.2 ล้านครัวเรือน โดยในส่วนของจังหวัดกำแพงเพชร มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนแล้วจำนวน 82,967 ครัวเรือน และอยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดพิมพ์สมุดทะเบียนเกษตรกรเพื่อมอบให้เกษตรกร โดยมีเป้าหมายแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2556