การเจรจารอบนี้ทั้งสองฝ่ายได้ทำความเข้าใจเพิ่มขึ้นในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะกฎระเบียบของแต่ละเรื่อง โดยบางเรื่องได้ตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมระหว่างรอบเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ด้วย เพื่อจะได้ก้าวไปสู่การยื่นข้อเรียกร้องของการเปิดตลาด เช่น เรื่องการค้าบริการและการลงทุน ในการเจรจารอบต่อไปในเดือนธันวาคมนี้ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม
สำหรับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวที่หลายฝ่ายแสดงความกังวลนั้น ฝ่ายไทยได้กำหนดแนวทางการเจรจาที่ยึดหลักการของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPs) ภายใต้ WTO และยึดถือความยืดหยุ่นตามตามปฏิญญารัฐมนตรีโดฮาในส่วนที่เกี่ยวกับ TRIPs และการสาธารณสุข โดยในการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือ เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการวิจัยและพัฒนายา ซึ่งอาจจะใช้พื้นฐานของโครงการที่สหภาพยุโรปได้ดำเนินการ หรือมีความร่วมมือกับไทยอยู่แล้ว มาพัฒนาให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี จนสามารถผลิตเป็นเภสัชภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ที่เป็นรูปแบบเฉพาะและสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาได้อย่างทั่วถึง
ปัจจุบันสหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกสำคัญลำดับ 5 ของไทย ในปี 2555 โดยไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปมูลค่า 21,729 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 6,272.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนำเข้าจากสหภาพฯ มูลค่า 19,933.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแง่ของการลงทุน สหภาพยุโรปเป็นนักลงทุนอันดับ 2 ในไทย โดยการลงทุนมีมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ไทยออกไปลงทุนในสหภาพยุโรปสูงเป็นอันดับ 2 รองจากอาเซียน มีมูลค่าการลงทุน 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ