พพ-กฟภ.ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าบนหลังคานำร่องอาคารภาครัฐในภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 23, 2013 16:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การร่วมมือระหว่างกระทรวงพลังงาน กรมพัฒนาทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการส่งเสริมโซลาร์ รูฟท็อป ทำโครงการนำร่องติดตั้งโซลาร์ รูฟ ท็อปบนหลังคาศาลากลางจังหวัด อาคารอบต. และเทศบาล ทั่วประเทศทั้งหมด 74 จังหวัด ตั้งเป้าหมายให้เกิดระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา จากโครงการดังกล่าวไว้ประมาณ 25 เมกกะวัตต์ โดยให้เงินลงทุน 1.847 พันล้านบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

ในวันนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคานำร่องในอาคารของรัฐในภูมิภาค

"การลงนามในครั้งนี้เราหวังผลิตไฟฟ้าให้ได้ 25 เมกกะวัตต์ โดยจะติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป บนศาลากลางจังหวัดและ อบต. ถ้าไม่พอก็จะขยายไปตามโรงเรียนและตามโรงพยาบาลของรัฐ โดยโครงการนำร่องนี้ตามแผนจะติดตั้งโซล่าร์รูฟ ท็อป ให้เสร็จภายในปี 57 ซึ่งผลที่ได้จากโครงการจะช่วยประหยัดพลังงานได้ 36.5 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี หรือเป็นเงิน 146 ล้านบาทต่อปี และช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย"

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังมีมาตรการส่งเสริมในแพ็กเกจต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการลงทุนทั้งจากครัวเรือนและผู้ประกอบการ เช่น การสนับสนุนอัตราการขายไฟฟ้าจากการผลิตด้วยโซล่าร์รูฟท็อป (FEED IN TARFF), นโยบายการส่งเสริมด้านภาษีรวมไปถึงการเร่งดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือ ใบ รง. 4 ซึ่งกระทรวงพลังงานจะเร่งแก้ไขให้ได้โดยเร็ว

"ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอกรมโรงงานออกใบความเห็น เพื่อใช้ในการออกใบ รง.4 ซึ่งขณะนี้เราก็ได้มีการประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ เพื่อเร่งดำเนินการออกใบความเห็นให้ได้เร็วที่สุด เนื่องจากโครงการเรื่องไฟฟ้าเป็นโครงการที่รอไม่ได้ แต่ถ้ายังไม่ออกมาให้ เราจะให้กฟภ.ออกใบรง.4 ได้เลย อย่างไรก็ตามในด้านอุปกรณ์ต้องผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไม่ยอมรับ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า เกี่ยวกับการออกใบอนุญาต"

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานยังไม่แผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ รูฟท็อป จากแผนโครงการมีอยู่ 25 เมกกะวัตต์ กระทรวงพลังงานได้มีการศึกษาการเพิ่มแผนกำลังการผลิตในอนาคต คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 1 ปี เพื่อศึกษาความคุ้มค่าของการลงทุน โดยให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเข้ามาทำการศึกษา เนื่องจากประชาชนเชื่อถือในผลการศึกษามากกว่า

นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่ากฟภ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้อยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาจากอาจารย์มหาวิทยาลัย เข้ามาศึกษาการประกวดราคาเกี่ยวกับโครงการโซลาร์รูฟ คาดว่าการประกวดราคาจะเริ่มได้ปี 57 และจะติดตั้งแล้วเสร็จได้ในปี 57 เช่นเดียวกัน โดยโครงการนำร่องจะติดตั้งบนศาลาว่าการและอาคารภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งแห่งหนึ่งจะติดตั้งได้ประมาณ 30 กิโลวัตต์

"การติดตั้งโซลาร์รูฟของโครงการนี้เท่าที่ดูมาแห่งหนึ่งทำได้ 30 กิโลวัตต์ มองว่ามีแผนจะขยายให้มากขึ้น หากหลังคาของศาลกลางและอาคารภาครัฐไม่พอจริงๆ โดยจะขยายการติดตั้งไปยังโรงเรียนและโรงพยาบาลของภาครัฐต่อไป ทั้งนี้เริ่มต้นโครงการมีภาครัฐวิสาหกิจให้สนความสนจำนวนมาก รวมถึงภาคเอกชนด้วย ซึ่งหน่วยงานที่มาขอรับการติดตั้งมีจำนวน 700 กว่าราย มองว่าอาจจะให้ FEED IN TARFF มากเกินไปทำให้มีความต้องการเข้ามาสูง แต่ก็ต้องรอใบ รง.4 ก่อน ประกอบกับตอนนี้เรายังดูผลการตอบรับของภาคโรงงานในต่างจังหวัดว่ามีความสนใจหรือไม่อย่างไร เนื่องจากตอนนี้มีความต้องการที่กระจุกตัวอยู่ในภาคกลางจำนวนมาก กว่า 400-500 ราย ทำให้ในอนาคตอาจต้องเพิ่มสายส่ง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ