นายสมบัติ ธีระตระกูลชัย รองกรรมการผู้จัดการด้านคุณภาพและมาตรฐานสากล บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) กล่าวว่า ในศตวรรษที่ 21 กฎระเบียบการค้าจะมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น SMEs ต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อให้ได้มาตรฐานที่ให้สามารถส่งออกได้ อาจจะรวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ ทำให้สินค้าของบริษัทเล็กๆ มารวมกันเป็นกลุ่มใหญ่เป็นคอนเทนเนอร์ และส่งออกไปพร้อมๆกัน ซึ่งแต่ละสมาคมฯ คงต้องพยายามทำให้เกิดความสามัคคีนี้
นอกจากนี้ ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนและดูแลคุณภาพอาหารของไทยให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่าอาหารทุกจานที่วางจำหน่ายในประเทศไทยมีคุณภาพดีเหมือนกันทุกๆจาน ภาครัฐต้องช่วยดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกที่ดิน การใส่ปุ๋ย ยาบำรุงดิน การเก็บเกี่ยว วัตถุดิบต่างๆที่ได้จากในประเทศไทยต้องมีคุณภาพ กระบวนการด้านการจำหน่ายได้มาตรฐาน
“ภาครัฐ โดยเฉพาะ อ.ย.ควรเข้ามาดูแลอาหารทั้งประเทศเพื่อให้คนไทยทานแล้วปลอดภัย ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับนานาประเทศว่าอาหารไทย หรืออาหารที่มาจากประเทศไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานสมกับเป็นครัวไทยสู่ครัวโลก"นายสมบัติ กล่าว สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs สภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีสำนักงานและกรรมการพร้อมที่จะให้คำแนะนำและความช่วยเหลือกลุ่ม SMEs เพื่อรองรับเรื่องการกีดกันทางการค้า โดยแนะนำว่า SMEs ต้องสู้เชิงรุก ทำมาตรฐานรองรับไว้แต่เนิ่นๆ อย่างรอแล้วค่อยมาแก้ปัญหา ซึ่งเป็นเชิงรับและจะกระทบธุรกิจแน่นอน
"SMEs ต้องกล้าได้กล้าเสีย สู้ให้มากกว่านี้ เพราะ CP เมื่อก่อนเราก็เล็กเหมือนกัน แต่อาศัยสู้ไม่ถอย ทำให้ค่อยๆ ใหญ่ขึ้น"นายสมบัติ กล่าว
นางปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ ด้านกฎระเบียบการค้า เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารยังเป็นรายได้หลักในการส่งออกของประเทศ สินค้าส่งออกหลักๆ ได้แก่ กุ้ง สับปะรดกระป๋อง ทูน่ากระป๋อง ไก่ ข้าว ฯลฯ แต่ปัจจัยสำคัญที่จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค คือ Trend โดยมีการคาดการณ์ว่าในปี 2593 จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9.1 หมื่นล้านคน ทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้น เพราะพื้นที่เพาะปลูกจะลดลงเนื่องจากจะมีพื้นที่ที่เป็นทะเลทรายมากขึ้น ขาดน้ำจืด และพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เหลือก็จะเน้นการปลูกพืชพลังงานมากกว่า ซึ่งจะทำให้ประชากรขาดสารอาหารมากขึ้น ผู้สูงวัยจะมากขึ้น ดังนั้น ประเด็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับการกำหนดมาตรฐานอาหาร
ปัจจัยต่อมาที่จะมีผลต่ออุตสาหกรรมอาหารคือ อำนาจการซื้อ เพราะปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้ว จะเลือกซื้ออาหารโดยคำนึงถึงคุณภาพ มาตรฐานทางการค้า ความสะอาด ความปลอดภัย การคำนึงถึงกระบวนการผลิตตั้งแต่การเลือกสรรวัตถุดิบว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า มีการใช้แรงงานผิดกฎหมายและผิดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ซึ่งผู้ซื้อยอมที่จะจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อซื้อสิ่งเหล่านี้
ปัจจัยถัดมา คือ พฤติกรรมผู้บริโภคคำนึงถึง 3 S คือ Safety Security และ Sustainability
ปัจจัยเรื่องกระบวนการระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการรวมตัวเป็นกลุ่มผู้ผลิต กลุ่มผู้ค้าปลีก กำหนดมาตรฐานของสินค้าตัวเองขึ้นมา ซึ่งเรียกว่า มาตรฐานของเอกชน เพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากมาตรฐานของรัฐในแต่ละประเทศในแต่ละตลาด
อย่างไรก็ตาม มีองค์การระหว่างประเทศบางอัน เช่น APEC มีการกำหนดเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น ผลิตอย่างไรให้สูญเสียระหว่างการเก็บเกี่ยวน้อยที่สุด สูญเสียระหว่างกระบวนการแปรรูปให้น้อยที่สุด เศษอาหารที่เหลือจากการผลิตนำกลับมาใช้ได้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สำหรับการเจรจา FTA กับประเทศต่างๆ มีเงื่อนไขเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของแรงงาน เรื่องของสิทธิมนุษยชน เพื่อให้แต่ละประเทศต้องมีกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
"แนวโน้มการผลิตอาหารของโลก จะคำนึงถึงการผลิตต้นน้ำ มีการรักษาสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน, วัตถุดิบได้มาจากธรรมชาติหรือเปล่า, การผลิตอาหารจะต้องตรวจสอบย้อนกลับได้, ความปลอดภัยของทั้งกระบวนการผลิต, บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, อาหารที่ผลิตมีการประเมินเรื่องวงจรชีวิตหรือไม่ โดยเฉพาะถ้าเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์ มีการรักษาสวัสดิภาพของสัตว์หรือไม่, การเผลิตมีการเอาเปรียบแรงงานหรือไม่"นางปิยะนุช กล่าวในงานเสวนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยในศตวรรษที่ 21