พณ.ติวเข้มบุคลากรในระดับภูมิภาคเสริมความรู้-ความเข้าใจรองรับเปิด AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 25, 2013 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพิรมล เจริญเผ่า อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนพัฒนาบุคลากรของกระทรวงพาณิชย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด เพื่อรองรับศูนย์ AEC ระดับจังหวัดซึ่งจะดำเนินการครอบคลุมทั้งภาคเหนือ, ภาคอีสาน, ภาคกลาง, ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมีเป้าหมายพัฒนาคนพาณิชย์ที่สังกัดหน่วยงานต่างๆ ทั้งพาณิชย์จังหวัด, ค้าภายในจังหวัด, พัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด, ผู้อำนวยการศูนย์ชั่งตวงวัด, ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าต่างประเทศ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาค ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) เข้มข้นมากขึ้น
"กรมฯ จะพัฒนาเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงพาณิชย์ในส่วนภูมิภาค ให้มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับ AEC ต่อเนื่องทุกปี จะได้สามารถไปถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการและประชาชนในจังหวัดได้ต่อไป เพราะขณะนี้ AEC มีความคืบหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และใกล้เปิดเสรีในปี 58" นางพิรมล กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้การเจรจาในกรอบอาเซียนมีความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยได้ลงนามในข้อเสนอผูกพันเปิดตลาดการค้าบริการของไทยชุดที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการบริการของอาเซียน และการเสนอข้อผูกพันฯ ชุดที่ 9 ซึ่งเป็นข้อเสนอฉบับสมบูรณ์ด้านการค้าบริการของอาเซียน ซึ่งจะทำให้นักลงทุนอาเซียนสามารถเข้าไปถือหุ้นในสาขาบริการนำร่อง คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ(ICT) สุขภาพ ท่องเที่ยว การบิน และโลจิสติกส์ได้ 70% และตามเป้าหมายในปี 58 นักลงทุนอาเซียนจะสามารถถือหุ้นในธุรกิจบริการอื่นๆ ได้ถึง 70%

นอกจากนี้ อาเซียนยังได้เพิ่มสาขาอาชีพที่สามารถเข้าไปประกอบอาชีพในประเทศสมาชิกอื่นของอาเซียนได้อีก 1 สาขา คือ สาขาการท่องเที่ยว จากเดิมที่อนุญาตแล้ว 7 สาขาอาชีพ คือ แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, นักบัญชี, วิศวกร, สถาปนิก, และช่างสำรวจ รวมทั้งยังมีความคืบหน้าการเจรจาการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค (อาร์เซพ) ระหว่างอาเซียนกับ 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเจรจาให้เสร็จในปี 58 และจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ขณะเดียวกัน อาเซียนยังกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้สินค้าที่ค้าขายในอาเซียนมีความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค เพราะมาตรฐานนี้จะพัฒนาต่อไปเป็นมาตรฐานสินค้าเดียวกันทั่วโลกด้วย จึงจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการให้เตรียมความพร้อมในการผลิตสินค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ