"ธีระชัย"ตั้งประเด็นข้อควรระวังลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านลบ.นอกกรอบงบฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 25, 2013 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง โพสต์ในเฟสบุ๊คระบุว่าได้บรรยายในหัวข้อ"Thailand 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก การลงทุนของประชาชน เพื่อประชาชน"ต่อสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในวันนี้ว่า การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งในปี 56-63 ย่อมเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และทำให้การทำงานในประเทศสะดวกมากขึ้น แต่ก็ยังมีข้อควรระวังที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตไว้ด้วย
"การที่รัฐบาลจะลงทุนในเรื่องแบบนี้ นักวิชาการจึงมักจะไม่ค่อยจะขัดข้อง เพราะอย่างไรเสียก็ยังจะดีกว่าการใช้เงินไปในโครงการประชานิยมที่เน้นกระตุ้นการอุปโภคบริโภค ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจเพียงระยะสั้นๆ แบบไฟใหม้ฟาง อย่างไรก็ดี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถึงแม้โดยทั่วไปจะเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศก็ตาม ก็ยังอาจจะสร้างปัญหาได้"นายธีระชัย กล่าว

อดีต รมว.คลัง ให้ข้อสังเกตว่า ทุกประเทศต้องการให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีที่สุดเพื่อให้เกิดความสะดวกที่สุด เช่นมีสนามบินทุกจังหวัด หรือมีรถไฟความเร็วสูงทุกทิศทาง แต่การใช้เงินควรจะเป็นไปตามฐานะและควรยึดหลักการที่สำคัญที่สุดคือความคุ้มค่า ไม่เพียงแต่ด้านผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน แต่ต้องนำผลตอบแทนทางสังคมเข้ามาพิจารณาควบคู่ไปด้วย

โครงสร้างพื้นฐานอาจจะเอื้ออำนวยให้ภาคเอกชนสามารถทำโครงการด้านธุรกิจเควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน ตัวอย่างเช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงจะช่วยให้อสังหาริมทรัพย์คึกคักมากขึ้นตลอดเส้นทาง ราคาที่ดินจะพุ่งสูงขึ้น การจ้างงานสูงขึ้น ตลาดหุ้นบูมขึ้น แต่มองว่าเป็นการเน้นเอื้อผลประโยชน์ให้เกิดขึ้นเฉพาะแก่ภาคธุรกิจบางภาคโดยใช้ทรัพยากรของส่วนรวม ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ธุรกิจภาคอื่นๆ ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ด้วย

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)เปิดเผยข้อมูลเมื่อเดือนเม.ย.56 ว่า โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทนั้นเป็นโครงการที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมถึง 18 โครงการ รวมวงเงินเกือบ 530,000 ล้านบาท นอกจากนี้ โครงการที่การศึกษาความเป็นไปได้ยังไม่แล้วเสร็จก็มีจำนวนอยู่ถึง 11 โครงการ รวมวงเงิน 930,000 ล้านบาท จึงมีหลายโครงการในนั้น ที่ยังไม่มีความพร้อมอย่างแท้จริง จึงมีความเสี่ยงที่บางโครงการจะไม่คุ้มค่าที่เกิดขึ้นต่อประเทศโดยรวมเป็นสำคัญ

ประเด็นที่สอง ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งขณะนี้มีนักธุรกิจหลายรายที่แจ้งมาว่าสัดส่วนที่ต้องจ่ายใต้โต๊ะขึ้นไปสูงกว่าเดิมมาก ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมานี้นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ระบุในงาน“วันต่อต้านคอร์รัปชั่น 56"ว่าขณะนี้ปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทยก้าวไปสู่สถานะหนักมากแล้วจนถึงขนาดที่ตั้งฉายาว่า“มหาวิกฤตคอร์รัปชั่น" ดังนั้น จึงเห็นว่าหากยังแก้เรื่องคอร์รัปชั่นไม่ได้ ยิ่งลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหญ่โต ประเทศก็จะยิ่งเสียหายหนัก

ประเด็นต่อมาคือการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เช่น กรณีระบบราง มีหลายทางเลือก เช่น รถไฟรางคู่ที่จะลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ หรือ รถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้คนเดินทางรวดเร็วขึ้น หรือ รถไฟที่เชื่อมโยงไปประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่จะช่วยการค้าขายระหว่างประเทศ หรือ ระบบรถไฟมวลชนในบริเวณกรุงเทพและปริมณฑลที่จะลดต้นทุนการเดินทางในเมืองหลวง ซึ่งเป็นจุดที่ต้นทุนสูงที่สุดในประเทศ จำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบว่าโครงการใหนมีความสำคัญมากกว่าและ เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า

ทั้งนี้ ปกติการคัดเลือกโครงการที่จะลงทุนนั้นจะใช้หน่วยงานของทางราชการ ทำหน้าที่พิจารณาความคุ้มค่าของโครงการต่างๆ และวางลำดับความสำคัญ แต่ปรากฏว่าแทนที่รัฐบาลจะลงทุนโครงการต่างๆ เป็นเงินสูงเป็นประวัติการณ์ภายใต้กรอบของงบประมาณ แต่กลับใช้วิธีออกกฎหมายเฉพาะ ซึ่งเปิดช่องให้สามารถมีการรวบรัดขั้นตอนการพิจารณาความคุ้มค่าที่เดิมจะทำไปตามลำดับชั้นภายในแต่ละหน่วยราชการ

นายธีระชัย ระบุอีกว่า ประเด็นถัดไปคือการกำกับดูแลโดยภาคการเมือง ปกติการใช้เงินในกรอบงบประมาณนั้นรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลในรัฐสภาเอาไว้หลายชั้น แต่กรณีที่รัฐบาลเสนอกฎหมายเฉพาะเพื่อเลี่ยงกระบวนการงบประมาณ ทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลทางการเมืองไม่สามารถกระทำได้รอบคอบถี่ถ้วนเท่าเดิม และรัฐบาลสามารถเปลี่ยนรูปแบบโครงการหรือยกเลิกโครงการเมื่อใดก็ได้ นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างก็สามารถเลี่ยงขั้นตอนปกติไปใช้วิธีพิเศษได้โดยง่ายอีกด้วย

"เมื่อรัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลทางการเมือง ประชาชนจะแน่ใจได้อย่างไรว่าการดำเนินการโครงการเหล่านี้มีความโปร่งใส และแน่ใจว่าโครงการเหล่านี้สอดคล้องกับความต้องการของทั้งประเทศ มีการพิจารณาคัดเลือกตามหลักวิชาการจริงๆ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่ว่าแก่ฐานเสียงในภูมิภาคของประเทศภาคใดภาคหนึ่ง หรือแก่ธุรกิจที่ไกล้ชิดกับนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง"นายธีระชัย ระบุ

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องภาระต่อหนี้สาธารณะ ซึ่งการกู้เงินจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจนถึงขีดอันตรายหรือไม่ และภาระที่จะเพิ่มขึ้นนั้นจะทำให้หนี้สาธารณะมีตัวเลขที่แท้จริงเท่าใด โครงการเหล่านี้จะมีรายได้และกำไรเพื่อมาชำระหนี้ได้ด้วยตนเองหรือไม่เท่าใด และรัฐบาลจะมีภาระต้องชำระดอกเบี้ยแต่ละปีเท่าใด โดยจะมีเงินมาชำระคืนเงินต้นได้จากแหล่งใด และจะมีโอกาสที่จะชำระเงินต้นคืนได้เมื่อใด

ปัญหาหนักขณะนี้คือไม่มีใครทราบตัวเลขอย่างครบถ้วนในภาระของรัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากโครงการประชานิยมต่างๆ เพราะวิธีการนับตัวเลขหนี้สาธารณะยังใช้วิธีบัญชีแบบเกณฑ์เงินสดแบบโบราณอยู่ โครงการใดที่ยังไม่ปิดบัญชีแบบเป็นทางการก็จะยังไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ ทั้งที่โครงการเหล่านี้จะกลายเป็นภาระต่อรัฐในอนาคตอยู่แล้ว นอกจากนี้รัฐบาลยังจะมีภาระจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในธนาคารของรัฐที่ในอนาคตจะเป็นภาระแก่รัฐในการที่จะต้องเพิ่มทุนเพื่อชดเชยความเสียหายเหล่านี้

นายธีระชัย ยังระบุถึงประเด็นเกี่ยวกับผู้ลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เวลานาน ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะใช้ระยะเวลาชำระหนี้นานมากถึง 50 ปี อัตราดอกเบี้ยอาจจะสูงขึ้น ภาระของรัฐบาลจึงอาจจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไม่คาดคิด นอกจากนี้หากกู้บางส่วนเป็นสกุลต่างประเทศ หากเงินบาทอ่อนค่าภาระหนี้ก็จะเพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่ควรเน้นการลงทุนโดยรัฐบาลแต่ผู้เดียว แต่บางส่วนควรจะเปิดให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน หรืออย่างน้อยที่สุด โครงการบางส่วนควรจะใช้ประโยชน์จากตลาดทุน เปิดขายหน่วยลงทุนแก่ประชาชนให้เข้ามาร่วมรับความเสี่ยงบางส่วน โดยใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ส่วนประเด็นสุดท้าย คือ ความพร้อมด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านวัตถุแล้ว จำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านอื่นๆ ให้รุดหน้าไปพร้อมกัน โดยเฉพาะปัจจัยเรื่องของคน แต่ขณะนี้ การพัฒนาด้านการศึกษาของไทยเดินมาผิดทางอย่างมาก ล่าสุด การประเมินโดย World Economic Forum จัดอันดับคุณภาพด้านการศึกษาของประเทศอาเซียน 8 ประเทศ (ไม่รวมพม่าและลาว) ผลปรากฏว่าไทยได้คะแนนต่ำที่สุด และที่น่าตกใจคือต่ำกว่าเวียดนามและกัมพูชา

นอกจากนี้ หากกติกาภาครัฐยังมีการผูกขาดทางธุรกิจ หรือมีการกำกับดูแลที่เน้นขยายอำนาจฝ่ายข้าราชการ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะไม่เพิ่มพูนดีขึ้นมากนัก การปกป้องคุ้มครองธุรกิจบางประเภท หรือการให้สิทธิพิเศษแก่ธุรกิจบางประเภทที่ทำให้เกิดการผูกขาดนั้น นอกจากจะไม่เป็นธรรมแล้วยังปิดช่องทางการแข่งขัน ผู้ประกอบการธุรกิจรายเดิมถึงแม้จะร่ำรวย แต่ก็จะอ่อนแอ เพราะไม่จำเป็นต้องพัฒนาตนเอง ส่วนรายใหม่ก็ไม่สามารถเติบโตได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ