ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความปลอดภัยอาหาร การศึกษาค้นคว้าวิจัยร่วมกัน ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านประมง ปศุสัตว์และป่าไม้ การควบคุมหรือลดการใช้ย่าฆ่าแมลงในการผลิตสินค้าเกษตร การเตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงความร่วมมือกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนบวก 3 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี
ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งนี้ยังหารือร่วมกันในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก คือ 1. ความร่วมมือในการจัดระบบระบาดวิทยาทางสัตว์ ทั้งโรคไข้หวัดนก และโรคระบาดสัตว์อื่นๆ เพื่อให้ประเทศอาเซียนไปสู่เป้าหมายการเป็น One Health เพื่อควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ระบาดตามเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ 2. การใช้ระบบสหกรณ์และสร้างการร่วมกลุ่มให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรแต่ละประเทศ
3. การร่วมกันกำหนดมาตรฐานสินค้าอาเซียน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการค้าสินค้าเกษตรร่วมกัน โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถือว่ามีมาตรฐานสินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างจะเป็นมาตรฐานสากล ดังนั้น หากสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็น มาตรฐานของอาเซียนได้ ก็จะเพิ่มอำนาจการต่อรองและการแข่งขันสินค้าเกษตรของภูมิภาคในตลาดโลกมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังจะสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารให้แก่ประชากรในอาเซียนกว่า 600 ล้านคน และก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตสินค้าอาหารของโลก หรือ Food Hub of the world ป้อนประชากรโลกกว่า 7 พันล้านคนในอนาคตด้วย
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมอาเซียนยังมีแนวโน้มที่จะร่วมกันกำหนดมาตรฐานจีเอ็มโอด้วย เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าสินค้าจีเอ็มโอสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารให้แก่ประชากรโลกได้ ดังนั้น ในส่วนของประเทศไทยก็คงต้องมีการทบทวนนโยบายเกี่ยวกับสินค้าจีเอ็มโออีกครั้งให้สอดคล้องกับแนวทางของอาเซียนด้วยเช่นกัน ซึ่งคงจะต้องมีการหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องในลำดับต่อไป