SCB EIC คาดศก.ไทยปี 56 ขยายตัว 3.4% เงินบาท 32 บาท/ดอลลาร์ช่วงปลายปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 27, 2013 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 56 จะขยายตัวได้ 3.4% หลังเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้วัดที่สำคัญ เช่น HSBC PMI ของจีนบ่งชี้ว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมสำหรับเดือนกันยายนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า เช่นเดียวกันกับ PMI ยูโรโซนที่ขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับสหรัฐฯ นั้นการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมหลังจากมีการคาดการณ์เกี่ยวกับการลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน(QE tapering) ทำให้การฟื้นตัวช้าลงบ้างเล็กน้อย โดยรวมแล้วคาดว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะเริ่มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศกลุ่ม G-3 รวมถึงจีน

อย่างไรก็ดี ความผันผวนของค่าเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อการค้าระหว่างประเทศ การใช้จ่ายภาคเอกชนในประเทศยังมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่เร่งตัวมากก่อนหน้านี้จากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก นอกจากนี้ มีปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ได้แก่ ราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่ปรับตัวลดลงและยังมีความไม่แน่นอนสูง และภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งการใช้จ่ายก่อนหน้านี้ สำหรับภาคเอกชนนั้น ยังไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ต้องเร่งการลงทุนในช่วงนี้

ขณะที่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้น การลดขนาด QE เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างถาวร โดยในระยะสั้นนั้น ความไม่แน่นอนของขนาดและเวลาในการลด QE จะทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวนสูงต่อไป

เงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยปีนี้น่าจะอยู่ที่ราว 2.3% และ 1.0% ตามลำดับ โดยแรงกดดันเงินเฟ้อจากปัจจัยภายในประเทศมีไม่มากนักตามภาวะการใช้จ่ายที่ชะลอตัว แม้ราคาพลังงานในประเทศจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามการปรับขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือนที่เริ่มในวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา แต่ระดับราคาในประเทศไม่น่าจะได้รับแรงกดดันมากเท่าใดนักเนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคภาคเอกชนความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อจากปัจจัยภายนอกลดลง โดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวหลังจากการเจรจาที่คืบหน้าช่วยลดโอกาสที่สหรัฐฯ จะใช้กำลังทหารในซีเรียลง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย SCB EIC ประเมินว่า อาจจะปรับลดลงได้ในช่วงที่เหลือของปีหากเศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าที่คาด การชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนขยายการลงทุน คล้ายกับการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อลดต้นทุนชั่วคราว ซึ่งสามารถทำได้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนจากการลดขนาด QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้

ในส่วนค่าเงินบาทน่าจะยังผันผวนในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า การลดขนาด QE ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินผันผวนทั่วโลก ทำให้นักลงทุนยังคงลดขนาดการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนเพ่งเล็งไปยังประเทศที่มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซียและอินเดีย เป็นเหตุให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นอ่อนค่าลงมาก

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น มีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงเมื่อเทียบกับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และไม่ได้มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ดังนั้น ค่าเงินบาทน่าจะรักษาระดับอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ