สาเหตุหลักที่ส่งผลให้การส่งออกไทยขยายตัวได้น้อยกว่าที่เคยประมาณการไว้ จากเดิมคาดขยายตัวร้อยละ 3.5 มาจากการส่งออกในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่หดตัวลงมากกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม เริ่มมีสัญญาณของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่ฟื้นตัวจากไตรมาส 2 โดยเฉพาะสหภาพยุโรป และจีน ส่งผลให้ตัวเลขส่งออกล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่กระทรวงพาณิชย์แถลง กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี หลังจากหดตัวถึง 3 เดือนติดต่อกัน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่า ในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ การส่งออกของไทยจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 5 ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยในปี นี้ อาจขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2 ต่อปี ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาการส่งออกประมาณร้อยละ 57 ของจีดีพี อีกทั้งเมื่อดูถึงองค์ประกอบด้านอื่นที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักมาตั้งแต่ปีก่อน โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนได้ส่งสัญญาณชะลอลงต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ทั้งการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่หมดแรงส่งจากโครงการรถคันแรก เพราะขณะนี้ได้มีการส่งมอบรถไปแล้วกว่าร้อยละ 87 ของจำนวนรถในโครงการ 1.25 ล้านคัน และมีโอกาสที่ผู้จองจะยกเลิกการจองราวร้อยละ 10 แม้ว่าค่ายรถต่างๆ จะออกแคมเปญดึงดูดลูกค้าเพื่อลดภาระรถค้างสตอกก็ตาม
ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน ส่อเค้าชะลอลงเช่นกัน จากความกังวลในเรื่องค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป ตามการปรับขึ้นราคาแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้มทยอยเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 1 ปี ปรับขึ้นค่าทางด่วน 5-10 บาท และปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) อีก 7.08 สตางค์ต่อหน่วย อีกทั้งแนวโน้มหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งสูงขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 60 ของจีดีพี ในปี 2554 จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 75 ของจีดีพี
ในด้านการลงทุนภาคเอกชน มีทิศทางแผ่วลงเช่นกันสะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความหวังที่จะเห็นการลงทุนภาครัฐเข้ามาเป็นตัวช่วยรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ก็มีความเป็นไปได้น้อย ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำที่ติดปัญหาในเรื่องคำสั่งศาลปกครอง นำมาซึ่งยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ทำให้อย่างเร็วสุดจะเริ่มเซ็นสัญญาก่อสร้างได้ภายในเดือนธันวาคมปีนี้ หรือล่าช้าไปจนถึงปีหน้า ส่วนการลงทุนเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท แม้ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่คาดว่าจะยังไม่เห็นการเบิกจ่ายได้ทันภายในปีนี้ ซึ่งจากแรงหนุนของปัจจัยเหล่านี้ที่ถูกลดทอนไป
ผลกระทบภาพรวมดังกล่าวศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.1 และทั้งปี 2556 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 ในปีที่ผ่านมา