“ความผันผวนของค่าเงินที่เพิ่มขึ้น 1-2 เดือนนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงใหม่ต่อการค้าระหว่างประเทศ เป็นผลจากจากการลดขนาด QE ที่อาจจะเกิดขึ้นส่งผลให้ค่าเงินผันผวนทั่วโลก"บทวิเคราะห์ระบุ
ทั้งนี้ การลดขนาดคิวอี ทำให้นักลงทุนยังคงลดขนาดการลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งรวมถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนเพ่งเล็งไปยังประเทศที่มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง เช่น อินโดนีเซียและอินเดีย เป็นเหตุให้ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นอ่อนค่าลงมาก อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น มีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงเมื่อเทียบกับภาระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น และไม่ได้มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ดังนั้น ค่าเงินบาทน่าจะรักษาระดับอยู่ที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี
ส่วนการใช้จ่ายภาคเอกชนในประเทศไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะการซื้อรถยนต์ที่เร่งตัวมากก่อนหน้านี้จากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก นอกจากนี้ มีปัจจัยที่อาจจะส่งผลให้ภาคครัวเรือนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ได้แก่ ราคาสินทรัพย์ทางการเงินที่ปรับตัวลดลงและยังมีความไม่แน่นอนสูง และภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งการใช้จ่ายก่อนหน้านี้ สำหรับภาคเอกชนนั้น ยังไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ต้องเร่งการลงทุนในช่วงนี้