ก.เกษตรฯ ส่งสัญญาณ 4 สินค้าเกษตร จ่อร้องรัฐช่วยเหลือด้านราคา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2013 10:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า สินค้าเกษตร 4 ชนิด คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน จะมีปัญหาเกี่ยวกับราคาสินค้า เนื่องจากปัจจัยต้นทุนสินค้าเกษตรที่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะปุ๋ยและค่าแรง ทำให้สินค้าเกษตรไทยทั้ง 4 ชนิด ราคาแพง ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นที่ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ทำให้ยอดความต้องการใช้ลดลง

“แนวโน้มว่าเกษตรกรทั้ง 4 ชนิดจะออกมาร้องเรียนเรื่องราคาและขอให้รัฐบาลออกมาช่วยเหลือ โดยใช้ข้ออ้างเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ความไม่แน่นอนของธรรมชาติทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม รวมถึงภาวะการแข่งขันทางการค้าในตลาดสูงขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าของคู่แข่งลดลง/เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรไทยต้องปรับตัวตามสถานการณ์จะกดดันให้รัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือ โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านราคา

พร้อมกันนี้ ได้คาดการณ์สถานการณ์พืชแต่ละชนิด ในส่วนของมันสำปะหลัง การผลิตปี 56 (55/56) ประมาณการเนื้อที่เก็บเกี่ยวมันสำปะหลังโรงงานอยู่ที่ 8.155 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 51.64 % ภาคกลาง 27.08% และภาคเหนือ 21.28%

ประมาณการผลผลิตที่ 27.457 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 26.601 ล้านตันในปีก่อน ประมาณการผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 3,367 กก. เพิ่มขึ้นจาก 3,362 กก.ในปีก่อน

โครงสร้างสินค้ามันสำปะหลังโรงงานปี 56 (55/56) แบ่งเป็น 1.มันเส้น/มันอัดเม็ด 38.02% หรือประมาณ 4.64 ล้านตัน ใช้ในประเทศ 11.41% ส่งออก 88.59%2.แป้งมันสำปะหลัง 57.46% แบ่งเป็นใช้ในประเทศ 26.96% ส่งออก 73.04% 3.เอทานอล 4.52% เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก 0.552 ล้านลิตร

ด้านสถานการณ์ราคา ปัจจุบันราคาหัวมันสดคละที่เกษตรกรขายได้ในเดือน มิ.ย.56 อยู่ที่ 2.20 บาท/กก. ส่วนราคาที่โรงแป้งรับซื้ออยู่ที่ 2.40 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการผลิตรวมต่อกิโลกรัมของเกษตรกรอยู่ที่ 1.80 บาท/กก. แต่ราคาที่เกษตรกรต้องการคือ 3.20 บาท/

*ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ประมาณการผลผลิตในประเทศปีเพาะปลูก 56/57 ที่ 4.879 ล้านตัน ลดลงจาก 4.965 ล้านตันในปี 55/56 พื้นที่เพาะปลูกแบ่งเป็นภาคเหนือ 64.38% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25.32% และภาคกลาง 10.30% ผลผลิตออกสู่ตลาดเดือนสิงหาคม 0.737 ล้านตัน เดือนกันยายน 1.157 ล้านตัน เดือนตุลาคม 0.876 ล้านตัน เดือนพฤศจิกายน 0.802 ล้านตัน เดือนธันวาคม 0.663 ล้านตัน ประมาณการผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 678 กก. ลดลงจาก 674 กก.ต่อไร่ในปี 55/56

ส่วนประมาณการผลิตของโลกปีเพาะปลูก 56/57 อยู่ที่ 960.482 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 855.048 ล้านตันในปีที่แล้ว ผู้ผลิตรายใหฯ คือ สหรัฐอเมริกา 37.04% จีน 22.07%บราซิล 7.50% สหภาพยุโรป 6.65% และอาร์เจนติน่า 2.81% ตามลำดับ ส่วนไทยอยู่ในอัดับที่ 24 ประมาณ 0.50% ส่วนความต้องการใช้ สหรัฐฯ 33.44% จีน 24.01%สหภาพยุโรป 7.72% บราซิล 5.79% เม็กซิโก 3.11% ส่วนไทย 0.85% ซึ่งส่วนใหญ่ป้อนเข้าสู่โรงงานอาหารสัตว์ ประมาณ 4.67 ล้านตัน ส่งออก 25,241 ตัน

ด้านราคา ปัจจุบันราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14% ที่เกษตรกรขายได้เดือนมิ.ย.56 อยู่ที่ 8.18 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนการผลิตรวมของเกษตรกรอยู่ที่ 6.63 บาท/กก. หรือประมาณ 4,480 บาท/ไร่ สูงขึ้นจากปี 55 ที่ต้นทุนการผลิตรวมอยู่ที่ 6.35 บาท/กก. หรือประมาณ 4,257 บาท/ไร่

*ยางพารา

ประมาณการปี 56 เนื้อที่ยืนต้น 18.70 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 18.50 ล้านไร่ในปี 55 เนื้อที่กรีด 15.13 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 13.81 ล้านไร่ในปี 55 ผลผลิต 3.86 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 3.63 ล้านตันในปี 55 ผลผลิตต่อไร่ 255 กก. ลดลงจาก 263 กก.ในปี 55

ผลผลิต(ยางแห้ง) ถูกใช้ใน 1.กลุ่มอุตสาหกรรมกลางน้ำ 326 โรงงานท ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยางแผ่น อุตสาหกรรมยางแท่ง อุตสาหกรรมน้ำยางข้น อุตสาหกรรมยางเทียมหรือยางสังเคราะห์ ซึ่งผลผลิตที่ได้จาก 4 อุตสาหกรรมดังกล่าวส่งออก 83% รวมยาง compound ไปยังจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้

2.อุตสาหกรรมปลายน้ำ หรือผลิตภัณฑ์จากยาง 806 โรงงาน 5 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมผลิตยางล้อ, กลุ่มผลิตภัณฑ์จากกระบวนการจุ่ม เช่น ถุงมือยาง แถบยางยืด, กลุ่มผลิตภัณฑ์จากระบวนการขึ้นรูป เช่น ยางรัดของ, กลุ่มผลิตภัณฑ์จากกระบวนการอัดฉีด และกฃุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทั้งหมดนี้เพื่อส่งออก 15.13% และใช้ในประเทศ 8.67% ซึ่งจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตยางในช่วงปลายน้ำของไทยยังมีสัดส่วนที่น้อยมากทั้งการผลิตเพื่อส่งออกและใช้ในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องหันมาส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของยางไทยคือ ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศผู้ผลิตด้วยกันอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย, ข้อมูลที่ชัดเจนของประเทศคู่แข่งไม่เพียงพอ, งานวิจัยส่วนใหญ่เน้นด้านการเพาะปลูก, แรงงานที่มีทักษะด้านการกรีดยางไม่เพียงพอกับพื้นที่สวนยาง, เกษตรกรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือกรีดยางที่ยังไม่ได้ขนาด, ราคายางพารามีแนวโน้มลดลง, ธนาคารไม่ปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการยางพาราแปรรูปขั้นต้น และขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ

*ปาล์มน้ำมัน

ประมาณการเนื้อที่ยืนต้นปี 56 ที่ 4.48 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 4.33 ล้านไร่ในปีก่อน คาดการณ์ปี 58 เนื้อที่ยืนต้นจะเพิ่มเป็น 6 ล้านไร่ ประมาณการผลผลิต 12.02 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 11.33 ล้านตันในปี 55 ผลผลิตต่อไร่ 2.99 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.84 ตันในปี 55

ด้านการตลาด ปัจจุบันมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 80 โรง โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 15 โรง และโรงงานผลิตไบโอดีเซล B-100 จำนวน 14 โรง

ทั้งนี้ การเปิดตลาดการนำเข้าภายใต้กรอบ AFTA ปรับลดภาษีเหลือ 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค.53 เป็นต้นมาจะมีคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ดูแลครบวงจร แต่สินค้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่เน้นการใช้ในประเทศ แต่เมื่อไหร่ที่ผลิตเกินความต้องการใช้ในประเทศจึงจะส่งออก

สำหรับปี 56 พบว่า เดือนม.ค.-พ.ค. ไทยส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ จำนวน 302,747 ตัน ประเทศผู้นำเข้าจากไทยที่สำคัญคือ มาเลเซีย 96,535 ตัน เยอรมนี 50,818 ตัน, อินเดีย 48,194 ตัน เนเธอร์แลนด์ 39,093 ตัน และ เมียนมาร์ 27,349 ตัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ