"จากที่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมามีการส่งออกประมาณ 2.05 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งหากต้องการที่จะให้การส่งออกเติบโตได้ถึง 2.5 % ได้นั้น ต้องมีมูลค่าการส่งออกเท่ากับเดือน ส.ค.จนถึงสิ้นปี"นายนพพร กล่าว
ทั้งนี้ ผลกระทบที่ทำให้การส่งออกเติบโตได้ไม่มาก มาจากความผันผวนของตลาดเงินที่ส่งผลต่อค่าเงินบาท ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ(QE) ยังไม่ชัดเจนว่าจะปรับลดลงเมื่อใด เพราะจะทำให้มีการดึงเงินกลับไปอีกครั้ง และจะทำให้ตลาดเงินมีความผันผวนไปถึงปีหน้า จึงแนะนำให้ผู้ส่งออกทำสัญญาซื้อขายระยะสั้นๆ ไม่ควรซื้อขายระยะยาวเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาท
นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองของโลกประกอบกับการเมืองในประเทศเองที่ยังมีความผันผวนและถือเป็นความเสี่ยง ในขณะเดียวกันภาวะการแข่งขันของประเทศไทยที่ความสามารถในการแข่งขันปรับตัวลดลงจากที่มีการปรับค่าแรงขึ้นเป็น 300 บาท/วัน ทำให้ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน และประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงที่ต่ำกว่า จึงทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง
"จากผลกระทบทั้งด้านความผันผวนของตลาดเงิน การเมืองของโลกที่ยังมีความผันผวน รวมถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงและต้นทุนต่ำกว่า และปัจจุบันยังมีผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้เราปรับลดการคาดการส่งออกลงเหลือ 2.5% จากก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีการเติบโตที่ 3%"นายนพพร กล่าว
นายนพพร กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรมีการเสริมศักยภาพในการส่งออกอย่างยั่งยืน โดยการส่งเสริมการค้าด้านชายแดน ประกอบกับหาแหล่งส่งออกใหม่ เช่น อเมริกาใต้ และตลาดอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ต้องดูแลคู่ค้าเดิมในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งยังต้องรักษาฐานลูกค้าในส่วนนี้ไว้
สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้ 3.5 % โดยการเติบโตที่ลดลงมากจากผลกระทบหลักของการส่งออกที่มีการปรับตัวลดลง
"เราคาดว่าการเติบโตของ GDP ปีนี้จะมีการเติบโตได้ 3.5% แต่หากในช่วงไตรมาส 4 การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไม่สามารถออกมาได้ทัน ก็จะทำให้การเติบโตของ GDP อยู่ที่ประมาณ 3% "นายนพพร กล่าว
นายนพพร ยังคาดว่า การส่งออกของไทยในปี 57 มีโอกาสเติบโตได้ราว 5% แต่ยังคงมีความเสี่ยงเรื่องภาวะการเงินโลกที่ยังมีความผันผวน รวมถึงค่าเงินในประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ และจีนที่ยังมีปัญหาต้องใช้นโยบายทางการเงิน ส่วนการเมืองโลกเองก็ยังมีความผันผวน ประกอบกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ พร้อมแนะนำให้ภาครัฐควรเร่งเรื่องขอการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะสามารถลดต้นทุนด้านการขนส่ง และทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้