รมว.เกษตรฯ เร่งขึ้นทะเบียนชาวสวนยางให้ครบกลางต.ค.นี้-จี้เพิ่มการใช้ยางในปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2013 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) ว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ซึ่งมีความใกล้ชิดกับเกษตรกรชาวสวนยางมากที่สุด ลงพื้นที่ตรวจสอบและเร่งรัดเกษตรกรชาวสวนยางที่ยังไม่ได้มาขึ้นทะเบียนในทุกพื้นที่ให้เร่งมาดำเนินการขึ้นทะเบียน

ความคืบหน้าล่าสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นกรอบระยะเวลาที่กำหนดให้เกษตรกรชาวสวนยางมาขึ้นทะเบียนนั้น ขณะนี้มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 929,319 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 80 จากเป้าหมายทั้งหมด 1.17 ล้านครัวเรือน และคณะกรรมการระดับตำบลฯ ได้ทำการตรวจสอบพื้นที่เปิดกรีดยางแล้ว 30,652 ครัวเรือน ก่อนดำเนินการแจ้งยอดรวมการจ่ายเงินช่วยเหลือชดเชยราคายางตกต่ำ ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ซึ่งขณะนี้ได้ทำการจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรชาวสวนยางแล้วรวมเป็นเงิน 55 ล้านบาทเศษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนเกษตรกรชาวสวนยางที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนเพื่อแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการสามารถมาขึ้นทะเบียนได้ถึงภายในกลางเดือนตุลาคมนี้

นายยุคล กล่าวเพิ่มอีกว่า ขณะที่การประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารกิจการขององค์การสวนยาง (อสย.) ได้กำชับในที่ประชุม อสย. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการที่จะนำยางในประเทศไปใช้ในหน่วยงานราชการ เร่งสรุปตัวเลขจำนวนการใช้ยางทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในวันนี้ ก่อนกระทรวงเกษตรฯจะนำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อขอใช้งบประมาณในปี 2557 ต่อไป

โดยเบื้องต้น ทาง อสย. ได้มีการแจ้งว่า ทาง ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ประสงค์ที่จะใช้ยางในการสร้างถนน 200 กว่ากิโลเมตร ขณะเดียวกันยังมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้แจ้งความประสงค์จะนำยางไปใช้ในการทำลู่วิ่งในสนามกีฬาและสนามเด็กเล่น ขณะที่กระทรวงคมนาคม ก็ได้แจ้งที่จะขอนำยางไปใช้ในการสร้างถนนในส่วนกระทรวงคมนาคม

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคตะวันออก รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า เบื้องต้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรฯระดับพื้นที่ ประสานงานคณะกรรมการระดับจังหวัดในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ เป็นประธาน และเร่งรัดในการสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายทันทีภายหลังน้ำลด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายทันที ส่วนความเสียหายขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เนื่องจากต้องรอให้ปริมาณน้ำลดลงก่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ในขณะนี้ได้ให้กรมชลประทานประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ