"นิวัฒน์ธำรง"คาดไทย-พม่าเซ็นร่วมมือทวาย พ.ย.รอญี่ปุ่นตัดสินใจทีหลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 1, 2013 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-พม่า (JCC) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายว่า หลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงการทวาย 3 ฝ่าย ได้แก่ พม่า-ไทย-ญี่ปุ่นที่กรุงย่างกุ้ง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่ารัฐบาลไทยและพม่าจะร่วมลงนามสัญญากรอบความร่วมมือ(Framework Agreement)และการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ในราวเดือน พ.ย.นี้ ขณะที่ญี่ปุ่นยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการทวาย ซึ่งประชุมครั้งนี้ได้ส่งตัวแทนร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้น

ทั้งนี้ SPV จะเป็นบริษัทที่ถือสัมปทานโครงการทวาย แทนบริษัท ทวาย ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด(DDC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) ที่เป็นผู้รับสัมปทานการดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของพม่า

นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวว่า เม็ดเงินที่ ITD ได้ลงทุนไปกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายก็จะได้รับคืนเมื่อมีการพัฒนาโครงการคืบหน้าต่อไป และ ITD ก็ยังได้สิทธิในการบริหารจัดการและลงทุนในกิจกรรมธุรกิจต่างๆ โดยจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะรายย่อย(SPC)เข้าไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ ได้แก่ ท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยระหว่างนี้จะมีการเจรจาหาผู้ร่วมทุนในแต่ละ SPC ที่จะแบ่งการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า, น้ำประปา, ถนน, นิคมอุตสาหกรรม และ Township, ท่าเรือ, รถไฟ และ โทรคมนาคม

ก่อนหน้านี้ ITD ระบุว่า บริษัทได้กระจายเงินลงทุนไปแล้ว 200 ล้านเหรียญสหรัฐในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของพม่า

ด้านนายประวีร์ โกมลกาญจน ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท ทวาย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด กล่าวว่า ระหว่างนี้มีการเจรจาโครงการลงทุนลงตัวไปแล้วในหลายธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจไฟฟ้าที่ ITD ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) , นิคมอุตสาหกรรมและTownship ซึ่ง ITD จับมือกับ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ(ROJNA) , ถนน ได้ดึงเจ็ทเวย์จากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วย รวมทั้งเจรจาการท่าเรือสิงคโปร์ และการท่าเรือแห่งประทศไทย เข้าร่วมธุรกิจท่าเรือในทวาย ส่วนโทรคมนาคมได้มีการหารือกับ บมจ.ทีโอที แล้ว

ทั้งนี้ หาก SPV มีการจัดตั้งแล้ว ทาง ITD จะยื่นข้อเสนอในการร่วมมือแต่ละ SPC ไปให้กับ SPV ซึ่งเป็นผู้บริหารหรือแกนกลางในการบริหารจัดการโครงการเศรษฐกิจพิเศษทวายได้ภายใน 3-4 เดือน

อนึ่ง โครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตั้งอยู่เขตตะนาวศรีของพม่า มีพื้นที่ 204 ตร.กม. หรือ 124,500 ไร่ คิดเป็น 2.5 เท่าของพื้นที่อุตสาหกรรมใน จ.ระยอง โครงการนี้จะเป็นประตูเศรษฐกิจและเป็นจุดแข็งในการเชื่อมโยงเมืองเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง(GMS) บนระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ