สำหรับโครงการไอซีดี ลาดกระบัง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครบนพื้นที่ 647-2-18.5 ไร่ โดยมีระยะทางจากใจกลางของกรุงเทพมหานครประมาณ 30 กิโลเมตร บริเวณใกล้เคียงมีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และนิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ เป็นต้น และอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง 118 กิโลเมตร มีโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงสามารถใช้ได้ทั้งการขนส่งทางถนนและการขนส่งทางรถไฟ การเดินทางเข้า-ออกจากไอซีดี ลาดกระบัง ทางถนนสามารถใช้ถนนเจ้าคุณทหาร ถนนร่มเกล้า ถนนฉลองกรุง และทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ได้สะดวก
ปัจจุบัน การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟระหว่างไอซีดี ลาดกระบัง — ท่าเรือแหลมฉบัง ขนส่งวันละ 28 ขบวน (เที่ยวไป 14 ขบวน และเที่ยวกลับ 14 ขบวน) สามารถบรรทุกตู้สินค้าได้ขบวนละ 30 โบกี้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 60 ตู้ขนาด 20 ฟุต และสามารถเพิ่มปริมาณขนส่งตู้ทางรถไฟขึ้นได้ถึงวันละ 36 ขบวน นอกจากนี้ ทางรถไฟในช่วงฉะเชิงเทรา — ศรีราชา — แหลมฉบัง ได้ก่อสร้างเป็นทางคู่แล้วเสร็จและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 จึงทำให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขนส่งทางรถไฟระหว่างไอซีดี ลาดกระบัง — ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ถึงวันละ 48 ขบวน ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย แผนยุทธศาสตร์ คค. และแผนยุทธศาสตร์การสร้างรากฐานการผลิตที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ