รมว.คลัง เผยจะติดตามความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน-การเงินหลังงบฯสหรัฐสะดุด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 2, 2013 13:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องปิดหน่วยงานราชการบางแห่งลง หลังจากที่สภาคองเกรสไม่สามารถผ่านกฎหมายงบประมาณฉุกเฉินว่า ในส่วนของประเทศไทยคงต้องเฝ้าระวังเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและความผันผวนทางการเงิน

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรง เพราะสถานการณ์ไม่ได้ลุกลามออกนอกสหรัฐฯ รวมทั้งเท่าที่สังเกตจากตลาดทุนในสหรัฐฯ ตลาดทุนทั่วโลก รวมทั้งตลาดในเอเชียก็ไม่ได้ตระหนกกับเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากในอดีตสหรัฐฯ ก็เคยประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้มาแล้ว เพียงแต่คงต้องจับตาที่สหรัฐฯ จะหาทางออกเรื่องนี้ในอีก 1-2 สัปดาห์ เพราะหากมีข้อสรุปได้เร็วก็จะไม่ส่งผลกระทบใดๆ เลย พร้อมเชื่อว่าสภาคองเกรสและประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีความเข้าใจต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยโดยมองว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีถือเป็นไตรมาสที่สำคัญ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวสามารถขยายตัวได้ดี รวมทั้งภาคการส่งออกซึ่งมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่การดูแลสถานการณ์เศรษฐกิจต้องมองในภาพรวม เพราะกลไกการทำงานด้านเศรษฐกิจมีการเชื่อมโยงกัน

อย่างไรก็ดี แม้ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ยังอยู่ในขั้นกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ แต่การใช้จ่ายของภาครัฐรวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังถือว่ามีทิศทางที่ดี ขณะที่ปัญหาการขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ร้ายแรงจนน่าเป็นห่วง เพียงแต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์

"ช่วงนี้เราเอาใจช่วยสถานการณ์นอกประเทศ และเหตุการณ์จากอุทกภัยในประเทศ ซึ่งต้องติดตามกันอยู่ แต่เชื่อว่าไม่มีอะไร" นายกิตติรัตน์ กล่าว

ด้านนายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อาจจะปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ร่วมกับกระทรวงการคลังตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์สถานะและความต้องการของเอสเอ็มอีล่าสุดว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้ปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์ การลดต้นทุน รวมถึงแนะนำเครื่องมือที่เหมาะสมให้กับเอสเอ็มอี

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสล่าสุดเพียง 0.1% เท่านั้นและคาดว่าในไม่ช้าคงจะหาทางออกได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สภาพัฒน์ ได้รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยรวมว่า เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อของต่างประเทศจะเริ่มกลับมาในไตรมาสที่ 4 ต่อเนื่องถึงปีหน้า ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ยังต้องติดตาม 3 ประเด็นอย่างใกล้ชิดคือ 1.การลดการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของสหรัฐ 2.การหยุดดำเนินงานของรัฐบาลกลางสหรัฐ และ 3.สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศกลุ่มยุโรป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ