IEA ระบุไทยมีความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานเหตุพึ่งพาการนำเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 2, 2013 14:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน เผยผลศึกษาแนวโน้มพลังงานโลกในอนาคต ฉบับปี 2556 (World Energy Outlook 2013) ของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ(IEA) ระบุความมั่นคงด้านพลังงานของไทยมีความเสี่ยงสูงสุดในอาเซียน เนื่องจากมีแนวโน้มต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น

"ในส่วนของประเทศไทยถือว่ามีความน่าเป็นห่วงและมีความเสี่ยงสูงสุดในอาเซียน หากประเทศไทยไทยไม่มีการปรับแผน เพราะไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเกือบทั้งหมด โดยในส่วนก๊าซธรรมชาตินำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็นการนำเข้าสูงกว่า 90% เช่นเดียวกับการนำเข้าน้ำมันที่นำเข้าเกือบ 100% จากปัจจุบันที่นำเข้า 65%" พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าว

โดยภาพรวมความต้องการใช้พลังงานในปี ค.ศ.2035 หรือปี พ.ศ.2578 จะเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียที่จะมีการขยายตัวถึง 3 เท่า มีประชากรเพิ่มขึ้น 25% ดังนั้นความต้องการพลังงานในอาเซียนจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 80% โดยความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นจาก 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 6.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถ่านหินจะมีความต้องเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้น 80% ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าตัว

สำหรับทิศทางพลังงานในอาเซียน ถ่านหินจะมีบทบาทมากขึ้น เพราะอาเซียนถือเป็นแหล่งสำรองที่สำคัญ โดยเฉพาะการผลิตจากอินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าในปี 2035 จะมีการใช้ถ่านหินเพื่อการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 700 ล้านเมกะวัตต์ ในขณะที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันแต่อาเซียนจะเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเช่นกัน จากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน และมีการใช้ไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 200 เมกะวัตต์ รวมทั้งอาเซียนจะมีการใช้พลังงานแทนเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านเมกะวัตต์ โดยพลังงานทดแทนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น แต่อุปสรรคสำคัญคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สายส่งไฟฟ้าให้รองรับพลังงานทดแทนที่ผลิตไฟฟ้าได้ไม่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ IEA ยังมีข้อแนะนำอาเซียนเกี่ยวกับมาตรการรองรับความเสี่ยงด้านพลังงานว่า นโยบายของรัฐบาลอาเซียนจะต้องลดการอุดหนุนราคาพลังงาน ต้องส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายพลังงานระหว่างกัน เช่น อาเซียนกริด, อาเซียนก๊าซฯไปป์ไลน์, ต้องส่งเสริมนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจะมีวงเงินลงทุนสูง 3.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานได้ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาเซียนได้อีก 2% ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันได้ 700,000 บาร์เรล/วัน หรือคิดเป็นมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/ปี

พล.ต.ท.วิเชียรโชติ กล่าวว่า ไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยมีทั้งแผนประสิทธิภาพพลังงาน หวังลดการใช้พลังงาน 25% ใน 20 ปี และพลังงานทดแทน 25% ใน10 ปี รวมทั้งวางแผนรองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนของการลดการอุดหนุนราคาพลังงานนั้น ทางกระทรวงฯ ได้นำผลการศึกษาในต่างประเทศมาประกอบการพิจารณาและจะทยอยลดการอุดหนุน เช่น การทยอยปรับขึ้นราคาแอลพีจี เป็นต้น

ด้านนายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ จะนำข้อแนะนำของรายงานมาประกอบการจัดทำแผนพลังงาน เช่น แผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว(PDP) ที่กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุง ซึ่งในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากไม่สามารถสร้างขึ้นในประเทศไทยก็มีความร่วมมือกับเพื่อนบ้านในการรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้น เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทวาย ในเมียนมาร์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ