เงินบาทปิดตลาด 31.25/28 อ่อนค่าหลังมีแรงซื้อดอลล์ช่วงท้ายตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 3, 2013 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงิน กล่าวว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ที่ระดับ 31.25/28 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 31.22/24 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากมีแรงซื้อดอลลาร์เข้ามาช่วงท้ายตลาดทำให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่า ระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 31.16 บาท/ดอลลาร์
"ระหว่างวันขยับไม่มาก แต่ช่วงท้ายตลาดมีแรงซื้อดอลล์เข้ามา" นักบริหารเงิน กล่าว

ปัจจัยที่ตลาดจับตามองเป็นเรื่องความคืบหน้าในการแก้ปัญหา Government Shutdown ของสหรัฐเป็นสำคัญ แต่ทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทยังมีความผันผวน ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่า

"ยังไม่ชัดเจน บางวันแข็งค่า อีกวันอ่อนค่า กระเพื่อมไปตามข่าวต่างประเทศ" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงินประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ระหว่าง 31.15-31.35 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 97.71 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 97.64 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3608 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.3590 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,429.18 จุด เพิ่มขึ้น 20.19 จุด, +1.43% มูลค่าการซื้อขาย 39,972.20 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 133.76 ล้านบาท(SET+MAI)
  • -ฟิทช์ เรทติ้งส์ เปิดเผยว่า นโยบายเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของไทยเป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ดังนั้นการบริหารจัดการนโยบายที่ส่งสัญญาณว่าย่ำแย่ลงอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศและความเชื่อมั่นของตลาด

อย่างไรก็ดี ฟิทช์มองว่าประเทศไทยมีเกราะป้องกันที่แข็งแกร่ง อันประกอบไปด้วยอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำและทรงตัว หนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับปานกลาง และการเป็นประเทศที่อยู่ในสถานะเจ้าหนี้ต่างประเทศ

  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เตรียมปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้ลงเหลือขยายตัว 3.1-3.5% จากก่อนหน้าที่เคยคาดการณ์ไว้ในระดับ 3.5-4.0% โดยจะแถลงตัวเลขอย่างเป็นทางการอีกครั้งใน 1-2 สัปดาห์นี้
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ก.ย.56 อยู่ที่ 77.9 ลดลงจาก 79.3 ในเดือน ส.ค.56 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 69.5, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 70.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 95.1 โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงทุกรายการเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่ ต.ค.55
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) เริ่มเปิดฉากการประชุมกำหนดนโยบายที่มีระยะเวลา 2 วัน โดยคาดว่าเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากเพื่อจัดการกับภาวะเงินฝืด และคงการประเมินภาวะเศรษฐกิจที่ระบุว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังมีการฟื้นตัวปานกลาง โดยมีแนวโน้มยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ในรายเดือน เม.ย.58 ขณะที่ราคาผู้บริโภคได้เริ่มปรับตัวขึ้นแล้ว
  • ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดวันนี้แทบจะทรงตัว ขณะที่การปิดหน่วยงานรัฐบาลบางส่วนของสหรัฐย่างเข้าสู่วันที่ 3 และดัชนี PMI ภาคบริการของจีนขยายตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยดัชนี Stoxx Europe 600 บวก 0.2% แตะ 311.49 เมื่อเวลา 8.06 น.ตามเวลาลอนดอน ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสเปิดวันนี้ที่ 4,158.53 จุด เพิ่มขึ้น 0.37 จุด หรือ 0.01% และดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันเปิดวันนี้ที่ 8,647.86 จุด เพิ่มขึ้น 18.44 จุด หรือ 0.21%
  • ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี ปิดลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 5 เดือนในวันนี้ เนื่องมาจากแรงซื้อที่มีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ภายหลังตลาดหุ้นโตเกียวปรับตัวลง และนักลงทุนวิตกว่าสหรัฐจะปิดทำการหน่วยงานรัฐบาลบางส่วนเป็นเวลานาน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรหมายเลข 330 ซึ่งเป็นมาตรวัดดอกเบี้ยระยะยาว ปิดที่ 0.635% ลดลง 0.005% จากระดับปิดเมื่อวานนี้ ขณะที่ราคาสัญญาพันธบัตรอายุ 10 ปี ส่งมอบเดือน ธ.ค.เพิ่มขึ้น 0.14 จุด แตะที่ระดับ 144.49 ที่ตลาดหุ้นโตเกียว
  • ผลสำรวจของมาร์กิต ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(PMI) ภาคบริการของยูโรโซนในเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้นแตะ 52.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือน จาก 50.7 ในเดือน ส.ค.และเมื่อเทียบกับการประเมินเบื้องต้นที่ 52.1 ดัชนีที่สูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงกิจกรรมภาคบริการของภูมิภาคยูโรโซนมีการขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า และตอกย้ำให้เห็นว่าเศรษฐกิจยูโรโซนฟื้นตัวเร็วขึ้น หลังจากหลุดพ้นจากภาวะถดถอยที่ยืดเยื้อยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยภาคบริการในประเทศสมาชิกที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ต่างปรับตัวแข็งแกร่งในเดือน ก.ย.ซึ่งได้ช่วยหนุนดัชนีภาคบริการของยูโรโซนโดยรวม

แท็ก เงินบาท  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ