สำหรับในปี 56 คาดเอกชนออกหุ้นกู้ราว 4-4.2 แสนล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 4/56 คาดว่า จะออกหุ้นกู้อยู่ที่ราว 9 หมื่นล้านบาท ถึง 1.2 แสนล้านบาท และภาครัฐระดมทุนอีก 9.5 หมื่นล้านบาท
ส่วนปี 57 คาดว่าภาครัฐจะออกพันธบัตรราว 7.5 แสนล้านบาทเพื่อระดมทุนในโครงการน้ำและโครงการโครงสร้างพื้นฐาน
นายนิวัตน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA คาดว่า ในไตรมาส 4/56 รัฐบาลจะออกตราสารหนี้อีกจำนวน 9.5 หมื่นล้านบาท และในปี 57 รัฐบาลจะออกตราสารหนี้ราว 7.56 แสนล้านบาท เพื่อนำไประดมทุนในโครงการน้ำจำนวน 9 พันล้านบาท, โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 1.37 แสนล้านบาท,ใช้ในการ Rollover หนี้เก่า จำนวน 2.31 แสนล้านบาท และใช้ในการ Rollover หนี้กองทุนฟื้นฟู จำนวน 1.29 แสนล้านบาท
ขณะที่แนวโน้มการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชน คาดว่าจะออกหุ้นกู้อีกประมาณ 9 หมื่น-1.2 แสนล้านบาท ในช่วงไตรมาส 4/56 และเมื่อรวมกันทั้งปี 56 คาดว่าจะมีหุ้นกู้ออกใหม่ทั้งหมด 4-4.2 แสนล้านบาท
ด้านรัฐวิสาหกิจในช่วงไตรมาส 4/56 คาดว่าจะออกพันธบัตรอีกประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นประเภทพันธบัตรระยะยาวที่มีอายุมากกว่า 1 ปี
"ตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงไตรมาส 4/56 คาดว่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยนักลงทุนต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งมองว่ายังคงเป็นเรื่องของกระแสเงินลงทุนต่างชาติที่คาดว่าจะค่อนข้างผันผวนตามความชัดเจนของการดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐฯ และการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ ส่วนภายในประเทศคือปัญหาด้านเศรษฐกิจและปัญหาภัยพิบัติที่ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง"นายนิวัฒน์ กล่าว
นายนิวัตน์ กล่าวว่า เงินทุนต่างชาติในช่วงไตรมาส 4/56 คาดว่าจะมีไหลเข้ามามาอย่างต่อเนื่องอีกประมาณ 5 หมื่น-1 แสนล้านบาท และประเมินว่าเมื่อรวมทั้งปีปริมาณเงินไหลเข้าจะอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท เนื่องมาจากความกังวลเรื่องของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 และเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่กลับเข้ามากดดันบรรยากาศการลงทุนอีกครั้ง รวมถึงพรรคการเมืองใหญ่ของสหรัฐไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ ทำให้คาดการณ์ว่าจะส่วผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และน่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ยังคงต้องใช้มาตรการ QE ต่อไป และอาจปรับลดขนาด QE ในช่วงไตรมาส 1/57
อย่างไรก็ตาม มองว่าหากเงินทุนต่างชาติไหลเข้าประเทศ จะทำส่งผลให้เงินบาทจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่น่าจะแข็งค่าขึ้นมากเหมือนในอดีตที่มีเงินไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยมีเม็ดเงินจำนวน 1.8 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ การเจรจาในการแก้ไขปัญหาทางการคลังของสหรัฐฯ หากไม่สามารถแก้ไขได้ก็จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โดยตลาดหุ้นไทยน่าจะมีความผันผวน ความเชื่อมั่นลดลง ผลตอบแทนในพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งนักลงทุนอาจจะหันกลับไปถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด เนื่องจากเงินไหลออก
นายนิวัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่จะถึงนี้ (16 ต.ค.) คาดว่า กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% หากตัวเลขเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวหรือออกมาน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้