(เพิ่มเติม) เวิลด์แบงก์ คาดศก.ไทยปี 57 โต 4.5% จากปีนี้คาดโต 4%,ปี 58 โตราว 5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 7, 2013 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.กิรฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) คาดเศรษฐกิจไทยปี 57 จะขยายตัวสูงขึ้น 4.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะเริ่มทยอยดำเนินงาน โดยรัฐบาลมีแผนจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในปี 57 ซึ่งหมายรวมถึงโครงการบริหารจัดการน้ำและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่ง โดยมองว่าการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐานเพื่อการขนส่ง วงเงิน 2 ล้านล้านบาทนี้จะเป็นการลงทุนหลักในเรื่องถนนและรถไฟ รวมถึงรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสู งและระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ มองว่าแม้การเบิกจ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าวจะยังเป็นเม็ดเงินที่ไม่มากนักในปีหน้า เนื่องจากอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นโครงการแต่ก็เชื่อว่าจะสามารถส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีหน้าให้อยู่ที่ระดับ 4.5% ได้ และในปี 58 คาดว่าจะโตได้ราว 5%

ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยไทยปีนี้จะโตเหลือ 4% โดยปรับลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะเติบโตได้ 5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ได้เติบโตดีตามอย่างที่คาดไว้ โดยมองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกมาจากการบริโภคภาคครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งได้รับผลจากการกระตุ้นในโครงการรถยนต์คันแรก ขณะที่การส่งออกที่ทรุดตัวในช่วงครึ่งปีแรกนั้นจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นในครึ่งปีหลัง แต่การบริโภคภาคครัวเรือนจะขยายตัวช้าลง

น.ส.กิรฎา กล่าวว่า ธนาคารโลกยังประเมินด้วยว่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะสามารถขยายตัวได้ราว 2.5% ที่มูลค่าราว 2.31 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.5% ที่มูลค่าราว 2.29 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ปีนี้ไทยจะเกินดุลการค้าราว 1.76 พันล้านดอลลาร์

"การที่ตัวเลขส่งออกปีนี้จะโตได้ 2.5% นั้น เรามองว่าอีก 4 เดือนที่เหลือ(ก.ย.-ธ.ค.)จะต้องส่งออกได้โตอย่างน้อยเดือนละ 5% ซึ่งก็มีสัญญาณให้เห็นแล้วในเดือนส.ค. ซึ่งการส่งออกโตได้จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้น เพราะฉะนั้นทั้งปีโต 2.5% จึงน่าจะทำได้" น.ส.กิรฎา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามซึ่งมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศไทย คือ การเบิกจ่ายเงินเพื่อใช้ในการลงทุนของภาครัฐที่ล่าช้า ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่สำคัญ คือ 1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ล่าช้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่เร็วกว่าคาดไว้ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย, 2.ความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าออกที่จะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและต้นทุนนำเข้าของไทย 3.ผลจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่สูงจากการซื้อรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรกในปีนี้ ซึ่งจะเป็นตัวถ่วงการขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนในปี 57

สำหรับความกังวลต่อกรณีสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถเจรจาเรื่องการขยายเพดานหนี้ได้ภายในวันที่ 17 ต.ค.นั้น น.ส.กิรฎา เชื่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวคงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะมีโอกาสเป็นไปได้ยากที่สหรัฐฯ จะไม่ขยายเพดานหนี้เพิ่มขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นสหรัฐฯ จะไม่มีเม็ดเงินสำหรับการใช้จ่ายเพื่อการต่างๆ โดยหวังว่าสหรัฐฯ จะมีการเจรจาตกลงกันได้

"เป็นไปได้ยากที่จะไม่เพิ่มเพดานหนี้เลย เรามองว่าน่าจะตกลงกันได้ แต่หากตกลงกันไม่ได้ รัฐบาลสหรัฐก็จะไม่มีเงินใช้ และกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงของสหรัฐฯ เอง รวมทั้งกระทบโดยตรงต่อจีดีพีของสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะมีการปิดหน่วยงานเพิ่มเติม" น.ส.กิรฎา กล่าว

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าหากจีดีพีของสหรัฐฯ ปรับลดลง 1% จะมีผลต่อจีดีพีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกให้ลดลงราว 0.5%

ด้านนายแอ็กเซล ฟาน ทร็อตเซ็นเบิร์ก รองประธานธนาคารโลกฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกยังเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดย 40% ของการขยายตัวของจีดีพีโลกมาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ โดยคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโตได้ราว 7.1% ส่วนปี 57 คาดว่าจะเติบโตได้ราว 7.2%

โดยมองว่าอุปสงค์ภายในประเทศจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ขณะที่การลงทุนโดยรวมในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอาเซียนกลับชะลอตัวลง เช่น ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขณะที่การเติบโตของประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กกลับดีขึ้น เช่น เวียดนามที่ได้รับผลบวกจากการขยายตัวด้านการส่งออกสิ่งทอ และภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จากรายงาน East Asia Pacific Economic Update ยังระบุถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลด้วยว่า ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินโครงการนี้ไปแล้ว 4 ฤดูการผลิตภายในเวลา 2 ปี ซึ่งใช้เงินไปแล้วทั้งสิ้น 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์ว่าจะขาดทุนที่ราว 2 แสนล้านบาท/ปี อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ประกาศว่าจะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวต่ออีก 2 ฤดูการผลิต(ต.ค.55-ก.ย.56) ในราคารับจำนำเท่ากับปีก่อน แต่ได้จำกัดปริมาณข้าวที่รับจำนำไว้

น.ส.กิรฎา กล่าวว่า การที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไปอีกแม้จะเพิ่มเงื่อนไขด้วยการจำกัดปริมาณรับจำนำข้าวก็ตาม แต่ก็ยังมีโอกาสจะประสบปัญหาขาดทุนได้เช่นเดิม ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับแสนล้านบาท แต่ถือว่ายังไม่ต้องกังวล เพราะรัฐบาลมีการเตรียมจัดสรรเงินสำหรับชดเชยในโครงการรับจำนำข้าวไว้อยู่แล้วที่ราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวที่ทำต่ออีก 2 ฤดูการผลิตนี้คงไม่เกิน 5 แสนล้านบาท

แต่ทั้งนี้ได้แสดงความเป็นห่วงว่าการที่รัฐบาลต้องกันเงินในส่วนนี้ไว้เพื่อชดเชยให้กับเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าว อาจจะเป็นการสูญเสียโอกาสที่ควรจะได้นำเม็ดเงินดังกล่าวมาใช้สำหรับการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ ในระยะยาว รวมทั้งห่วงว่าหากรัฐบาลยังดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวอยู่เช่นนี้ต่อไปอาจจะทำให้ข้าวไทยไม่ได้รับการพัฒนาให้มากขึ้น เนื่องจากขาดแรงจูงใจที่จะให้เกษตรกรพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย เพราะเกษตรกรอาจมองว่าการเพาะปลูกข้าวในปัจจุบันก็ทำให้ได้รับราคาที่ดีอยู่แล้วจากโครงการรับจำนำของรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ