ประกอบกับเตรียมการให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพต่างๆ รวมถึงยกระดับให้สินค้ามีมาตรฐานสูงขึ้น โดยจะมีการเชิญกลุ่มอุตสาหกรรมแต่ละสถาบันเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับแผนในระยะยาวว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อจะได้เตรียมข้อมูลต่างๆ เสนอต่อ รมว.พาณิชย์ต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้หารือเรื่องการแต่งตั้งผู้แทนหรือคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนของโลก ว่ามีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรในเรื่องของการค้าขาย ซึ่งจะมีการแต่งตั้งทั้งหมดสถาบันละ 3 คน คาดว่าจะได้ผู้แทนที่จะเข้าไปทำงานร่วมภายในสัปดาห์นี้
"องค์ประกอบไม่ใช่แค่การเข้าไปดูเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการค้าในต่างประเทศที่มีปัญหากับสถาบันการเงินที่อาจจะทำให้ผู้ประกอบการอาจจะไม่สะดวก เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป หรือจัดให้ทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ มาร่วมด้วย เพื่อให้มีการค้าขายได้ดีขึ้น คาดว่าในเร็วนี้จะมีการเสนอชื่อเพื่อที่จะทำงานร่วมกัน" นายอิสระ กล่าว
นายอิสระ กล่าวด้วยว่า ภาคเอกชนจะเดินทางร่วมไปกับคณะรัฐมนตรีที่ประเทศเอธิโอเปีย แอฟริกาใต้ในเดือนพ.ย.นี้ และรัสเซีย ในเดือนธ.ค. ตลอดจนประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการหาลู่ทางในการเพิ่มโอกาสทางการค้า โดยในประเทศเอธิโอเปียมีลู่ทางในสินค้าประเภทอุปกรณ์ทางการเกษตร ชิ้นส่วนรถยนต์ ยารักษาโรค และพลังงานหมุนเวียน ส่วนแอฟริกาใต้ จะดูในเรื่องของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่เป็นในเรื่องของเทคโนโลยีในการผลิต ขณะที่ญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในการทบทวนกรอบการเจรจาต่อเนื่องภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) จะมีการเจรจาเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับการเข้ามาดูแลผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs)นั้น กกร.ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ช่วยเหลือ SMEs และคณะทำงานพิจารณาสิทธิประโยชน์ และพิจารณาขีดความสามารถของ SMEs โดยมุ่งเน้นในเรื่องของสิทธิประโยชน์และเรื่องการวิจัยและพัฒนา(R&D) ซึ่งจะมีผู้แทนสถาบันละ 3 คน เพื่อทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ จากที่ประเทศชิลีได้มีการเสนอให้ไทยจัดตั้งสภาธุรกิจ ไทย-ชิลี โดยวันนี้ กกร.ได้เห็นชอบในการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ชิลี ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงระหว่างการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่จะมีขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น รวมถึงความแน่นแฟ้นระหว่างภาคธุรกิจที่จะสามารถติดต่อกันได้ง่ายขึ้น
นายพยุงศักดิ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่าจากเดิมที่มีน้ำท่วมในพื้นที่ 33 จังหวัด ขณะนี้ลดลงเหลือ 26 จังหวัด โดยมีความเสียหายรวมกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้มองว่าน้ำท่วมในรอบนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อโรงงานหรือภาคอุตสาหกรรม แต่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร การค้าขายหยุดชะลอลง อย่างไรก็ดี มั่นใจว่าน้ำท่วมในปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนปี 54 เป็นเพียงปัญหาน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งขณะนี้พายุฝนค่อนข้างจะเบาบางลงแล้ว
ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อความกังวลการจัดทำงบประมาณรายจ่ายและการขยายเพดานหนี้สาธารณะนั้น มองว่าในระยะสั้นไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าสหรัฐฯจะหาทางแก้ไขของปัญหาดังกล่าวได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้