สำหรับกรอบความร่วมมือดังกล่าวเป็นกรอบความร่วมมืออย่างกว้าง ๆ ที่ครอบคลุมสาขาพลังงานต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาและการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน) การผลิตไฟฟ้าและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือกที่สะอาด การอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งความร่วมมืออื่น ๆ ตามที่จะตกลงกันของทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ ความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้ตามรูปแบบ ได้แก่ การหารือแบบทวิภาคี การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพลังงาน การฝึกอบรม การลงทุนร่วมกันในสาขาพลังงานในทั้งสองประเทศและ/หรือประเทศที่สามที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekogn Subregion) โดยให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Joint Working Group) ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ เพื่อร่วมกำหนดโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน การจัดทำแผนความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ วาระ เวลา และสถานที่สำหรับการประชุมคณะทำงานจะจัดขึ้นตามที่แต่ละประเทศจะตกลงกัน โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพ และคาดว่าจะจัดการประชุมปีละครั้ง