นายกฯ ร่วมประชุมอาเซียนซัมมิท เสนอ 5 แนวทางสร้างเอกภาพใน AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 9, 2013 11:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 23 ณ กรุงบันดาร์เสวีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม ร่วมกับผู้นำอาเซียนอีก 9 ประเทศ พร้อมด้วยเลขาธิการอาเซียน เพื่อทบทวนประเด็นเรื่องความคืบหน้าการทำงานของอาเซียนที่ผ่านมา การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค อนาคตภายหลังปี 58 และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ

สำหรับการประชุมฯในปีนี้ ไทยต้องการผลักดันการรวมตัวของอาเซียน โดยต่อยอดประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและมีบทบาทที่แข็งขันจากการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ผ่านมา รวมทั้ง แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน(AEC)ภายหลังปี 58 และผลักดันให้อาเซียนมีเอกภาพในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นทะเลจีนใต้

นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC คือประการแรก ความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่อาเซียนเพื่อให้พร้อมรับกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาเซียนต้องรักษาความเป็นเอกภาพทั้งในเรื่องการสร้าง AEC และการเผชิญกับความท้าทายในระดับภูมิภาคและโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ อาเซียนต้องปรับปรุงกลไกการทำงาน ประสานงานอย่างใกล้ชิดในประเด็นสำคัญ รวมทั้ง ประเด็นปัญหาการย้ายถิ่น ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยพิบัติ

ประการที่สอง อาเซียนจำเป็นต้องเร่งการรวมตัวระดับภูมิภาค โดยเร่งแก้ปัญหาช่องว่างการพัฒนา เสริมสร้างความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค ทั้งสาธารณูปโภคด้านกายภาพและระบบการเชื่อมโยงต่างๆ เช่น กฏระเบียบ การอำนวยความสะดวกด้านการค้า ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนอาเซียนที่เป็นตลาดเดียวและฐานการผลิต สู่ก้าวสำคัญของการเติบโตของเอเชีย-แปซิฟิก และด้วยการเชื่อมโยงนี้สร้างให้เกิดชายแดนที่ปลอดภัยเพื่อความมั่งคั่งร่วมกัน โดยการจัดตั้งเขตอุสาหกรรมและเศรษฐกิจร่วมที่จะช่วยเชื่อมประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน

ประการที่สาม สร้างภาพลักษณ์ของอาเซียนให้เป็นภูมิภาคแห่งความรุ่งเรือง มั่นคง และสันติภาพ รวมทั้ง ให้ความสำคัญต่อประเด็นที่นานาประเทศยึดถือ เช่น สิทธิมนุษยชน นิติธรรม ธรรมาภิบาล ประชาธิปไตย และการเคารพต่อความหลากหลายและการอดทนอดกลั้น

ประการที่สี่ เรื่องการวางแผนอนาคตของอาเซียนต่อจากปี 58 ต้องมั่นใจว่าการเจริญเติบโตจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน วิสัยทัศน์ภายหลังปี 58 ต้องวางอยู่ในแนวทางของวาระการพัฒนาหลังปี 58 ของสหประชาชาติ (UN Post-2015 Development Agenda) ดังเช่นข้อเสนอของของประธานาธิบดียูโดโยโนเคยเสนอเรื่อง “aspiration goal" ซึ่งส่งเสริมเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น อาทิ การเข้าถึงบริการทางด้านสาธารณสุขและการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่อเตรียมพร้อมรับกับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเสริมสร้างควมมั่นคงทางอาหาร

ประการสุดท้าย อาเซียนจำเป็นต้องเป็นเอกภาพมากขึ้น และสามารถรับมือกับความท้าทายต่างๆของโลกให้มากกว่านี้ โดยต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันในเวทีระหว่างประเทศ และการส่งผู้สมัครจากอาเซียนในกรอบการดำเนินการพหุภาคีต่างๆ ถื่อเป็นก้าวสำคัญ

นอกจากนี้ อาเซียนต้องบริหารจัดการกับบทบาทและความสัมพันธ์ต่อประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค ซึ่งการแข่งขันของมหาอำนาจในอาเซียนถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะสะท้อนถึงความสำคัญของอาเซียน แต่ก็จำเป็นต้องกำหนดช่องทางการแข่งขันนี้เพื่อส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน รวมทั้ง ต้องส่งเสริมมหาอำนาจให้มีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ระหว่างกันเองด้วย นอกจากนี้ อาเซียนยังสนับสนุนการพัฒนาการเชื่อมต่อกับพันธมิตรแปซิฟิก และการสร้างความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่นๆเช่น แอฟริกา ละตินอเมริกา

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงเรื่องทะเลจีนใต้ ที่เมื่อปีที่แล้วจีนยังไม่พร้อมที่จะเริ่มกระบวนการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ COC ด้วยเหตุผลว่า “สถานการณ์ยังไม่สุกงอม" แต่ขณะนี้มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มการหารืออย่างเป็นทางการ รวมทั้ง มีความเข้าใจร่วมกันในแนวทางและวิธีการที่จะนำไปสู่การจัดทำ COC ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้เห็นพ้องเมื่อเดือนที่แล้ว ณ เมือง Souzhou เมื่ออาเซียนเป็นประชาคมและหลังจากปี 2015 แล้ว อาเซียนต้องยังคงเป็นหุ้นส่วนทั้งในระดับโลกและภูมิภาคที่มีความรับผิดชอบ โดยต้องร่วมมือกับประเทศต่างๆอย่างแข็งขัน และดำเนินบทบาทเชิงรุกในการกำหนดอนาคตของเอเชีย — แปซิฟิก รวมทั้ง ร่วมกำหนดทิศทางของประเด็นระหว่างประเทศที่ส่งผลต่อทุกประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ