สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจในเดือนก.ย.-ต.ค. 5 อันดับแรก คือ สภาพเศรษฐกิจไทย ได้ 4.5 คะแนน, ความต้องการของตลาดที่ลดลง ได้ 4.3 คะแนน, สภาวะเศรษฐกิจของโลก ได้ 4.2 คะแนน, ต้นทุนวัตถุดิบและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ได้ 4.0 คะแนนเท่ากัน
สำหรับดัชนีการทำธุรกิจซึ่งมี 4 ด้าน คือ ดัชนีด้านรายได้, ดัชนีด้านต้นทุน, ดัชนีด้านสภาพคล่อง และดัชนีด้านการจ้างงาน พบว่า ดัชนีด้านรายได้มีค่าเป็น -10 และคาดว่าจะปรับลดลงเป็น -11 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาค่าครองชีพที่สูงจนกระทบกำลังซื้อของประชาชน ขณะที่ดัชนีด้านต้นทุนได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 54 จุด แต่ในเดือนต.ค.คาดว่าดัชนีต้นทุนจะปรับลดลงบ้าง โดยมาอยู่ที่ระดับ 47 จุด
ทั้งนี้ การที่ทิศทางของรายได้ลดลง ขณะที่ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องมีค่าติดลบ โดยมีค่า -3 ในเดือนก.ย. และคาดว่าจะมีแนวโน้มเป็น -5 ในเดือนต.ค. ส่วนดัชนีการจ้างงานในเดือนก.ย.เริ่มติดลบเป็นครั้งแรก โดยมีค่า -3 จุด แต่คาดว่าจะปรับมาอยู่ที่ -1 จุดในเดือนต่อไป เป็นสัญญาณว่าการจ้างงานมีแนวโน้มจะชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการ
จากผลการสำรวจเดือนก.ย.โดยภาพรวมสะท้อนว่า ปัญหาหลักที่ธุรกิจต้องเผชิญเป็นผลโดยตรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย การลดลงของกำลังซื้อ เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัญหาสภาพคล่องยังคงความท้าทายของธุรกิจ
แต่ภาคธุรกิจได้ระบุว่าปัญหาการขาดแคลนแหล่งเงินทุนมีผลกับธุรกิจน้อยลงกว่าเดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจส่วนหนึ่งได้ปรับตัวด้วยการหาแหล่งเงินทุนอื่นได้ และปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้มีความสามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องได้มากขึ้น เช่น การลดระยะเวลาในการเรียกเก็บเงิน การขายสินค้าที่สามารถขายได้รวดเร็ว และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้บริหารส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่า การปรับตัวเหล่านี้เป็นความพยายามของธุรกิจในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น หากเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังไม่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นภายใน 3 ถึง 6 เดือนข้างหน้า ปัญหาสภาพคล่องจะกลับมาเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการทำธุรกิจเหมือนช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้
อนึ่ง ผลการสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรรวม 403 คน ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 23 ก.ย.- 2 ต.ค.56