ดังนั้น แนวทางที่จะสร้างการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน ต้องเพิ่มฐานรายได้สินค้าเกษตร ด้วยการพัฒนาผลิตภาพ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้แหล่งที่ 2 นอกเหนือจากการเกษตร เช่น พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพิ่มมูลค่าในสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ซึ่งเศรษฐกิจฐานรากมีความมั่นคงมากกว่าการส่งออกมาก โดยขณะนี้หลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ลดพึ่งพาการส่งออก และเน้นพึ่งพาในประเทศ
ด้านนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ให้ข้อมูลกับรัฐบาลไปแล้วถึงจุดรั่วไหลในการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตที่สร้างผลเสียหายให้กับประเทศ เพราะงบประมาณจะหมดไปกับการชดเชยการรับจำนำข้าว แทนที่จะนำไปพัฒนาประเทศเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันระยะยาว โดยในวันที่ 15 ต.ค.นี้ องค์กรฯ จะเปิดเผยข้อมูลทั้งปัญหาการขาดทุน การทุจริต การรั่วไหลในกระบวนการรับจำนำข้าวทั้งหมด
ขณะที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวมากขนาดนั้น เพราะใช้เงินรับจำนำปีละประมาณ 330,000 ล้านบาท คาดขาดทุนปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท รวม 2 ปีราว 200,000 ล้านบาท และยังมีข้าวในสต๊อกที่รอการขายเพื่อนำเงินส่งคืนคลังได้อีก
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า โครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตมากนั้น หากใครมีหลักฐาน ก็ขอให้นำมาชี้แจง เพื่อดำเนินการแก้ไข เพราะที่ผ่านมา มีการกล่าวหากันมากว่าไม่โปร่งใส แต่เมื่อตรวจสอบก็ไม่พบความผิด