BOI จับมือธนาคารรายใหญ่จีนเพิ่มศัยภาพความร่วมมือด้านลงทุน 2 ประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 10, 2013 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้(11 ต.ค.) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) จะลงนามบันทึกความเข้าใจ(MOU) ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน(CDB) โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมด้วยนาย หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นสักขีพยาน ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 11-12 ต.ค.56

การจัดทำเอ็มโอยูดังกล่าว จะช่วยเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือระหว่างบีโอไอ และธนาคาร CDB จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายในด้านต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจระหว่างสองประเทศเพื่อกระตุ้นการลงทุนทางตรงระหว่างกัน ช่วยเหลือและประสานงานการจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งช่วยเหลือนักลงทุนในการสำรวจลู่ทางและโอกาสด้านการลงทุนเป็นต้น

"บีโอไอมีความร่วมมือกับธนาคาร CDB ของจีนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 54 ในครั้งนี้จึงตกลงที่จะลงนามบันทึกความเข้าใจในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีของจีนมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยมั่นใจว่าเอ็มโอยูดังกล่าว จะช่วยเพิ่มศัยภาพความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันของ 2 ประเทศให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังช่วยอำนวยความสะดวกและผลักดันให้นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพสามารถขยายการลงทุนเข้าไปในประเทศจีนได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย" นายประเสริฐ กล่าว

ด้านนายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า จีนเป็นประเทศในกลุ่มเป้าหมายของบีโอไอ ในการมุ่งส่งเสริมการลงทุนทั้งรูปแบบของการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการจากจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพขยายการลงทุนเข้าไปในประเทศจีนเพื่อขยายโอกาสตลาดในอนาคต

โดยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (2550 — 2555) มีโครงการจากจีนที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 188 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 117,700 ล้านบาท ขณะที่ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.56) จีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับที่ 2 ของประเทศไทย มีโครงการยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 28 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 18,000 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจหลักที่จีนมาลงทุนในไทย ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วน การผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ เช่น ยางล้อรถยนต์ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน เป็นต้น สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงจากยางธรรมชาติ เครื่องจักรและอุปกรณ์ เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนเป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจีนรายใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในไทยแล้ว เช่น บริษัท ไฮเออร์ อีเล็คทริค(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลงทุนผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า, บริษัท ซีไอเอ็มซี วีฮีเคิล (ประเทศไทย) จำกัด ลงทุนผลิตชิ้นส่วนต่อพ่วงรถบรรทุก, บริษัท แอลแอลไอที (ไทยแลนด์) จำกัด ลงทุนผลิตยางรถยนต์ ขณะที่การลงทุนของไทยในจีนส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ โรงงานไฟฟ้า กระดาษ และภาคธุรกิจบริการ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ